xs
xsm
sm
md
lg

หนี้สาธารณะพ.ย.เพิ่ม7พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังรายงานหนี้สาธารณะพ.ย.51 เพิ่ม 7 พันล้านบาทปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับ 37% ของจีดีพี ไตรมาสแรกปีงบประมาณรัฐบาลก่อหนี้แล้ว 1.51 แสนล้านบาทชดเชยขาดดุลงบประมาณ พร้อมออกเกณฑ์เงินกู้ระยะสั้นภายในประเทศของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 2 แสนล้านบาทหลังเกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 มีจำนวน 3.41 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2.12 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.02 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 1.19 แสนล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.38 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8.3 พันล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 6.9 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นในส่วนของหนี้ ในประเทศ รายการที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 1.7 หมื่นล้านบาท

หนี้สาธารณะทั้งหมดแยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 4.04 แสนล้านบาท หรือ 11.84% และหนี้ในประเทศ 3.01 ล้านล้านบาท หรือ 88.16% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 96.86% และหนี้ระยะสั้น 1.07 แสนล้านบาท หรือ 3.14% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐเดือนธันวาคม 2551 ระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศโดยการออกพันธบัตรเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over วงเงินรวม 6.5 พันล้านบาท

ขณะที่การกู้เงินภาครัฐ เดือนธันวาคม 2551 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 1.51 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 4 หมื่นล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 1.11 แสนล้านบาท

***ประกาศกู้เงินรัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้านบาท

จากสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศรวมถึงตลาดการเงินและตลาดทุนเป็นอย่างมาก และจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ ทำให้สถาบันการเงินได้มีความเข้มงวดและจำกัดในการให้สินเชื่อ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ในส่วนการค้ำประกันรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐโดยกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มสัดส่วนการค้ำประกันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2552 คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจเสนอขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเต็มกรอบภาระการค้ำประกันเงินกู้และการให้กู้ต่อตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นสกุลเงินบาทไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

กระทรวงการคลังจึงเห็นควรนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้เพื่อเสริมความคล่องตัวในการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศให้แก่รัฐวิสาหกิจได้อย่างเหมาะสม และสามารถดำเนินการค้ำประกันเงินกู้ได้เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยการจัดตั้ง Short term facility เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้นได้โดยตรงเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารและจัดการ โดยมีโครงสร้าง/การดำเนินการ/วิธีการสอดคล้องกับความต้องการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรการกู้เงินของภาครัฐไม่ให้เกิดภาวะกระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่งได้ (Bunching) และจากการมี Short term facility ไว้เพื่อเป็นวงเงินสำรองการกู้เงินจะทำให้รัฐวิสาหกิจมีทางเลือกในการกู้เงินได้ (Alternative source of fund) โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วน (Partial guarantee) เพื่อลดสัดส่วนของการค้ำประกัน เพื่อให้ภาระการค้ำประกันอยู่ในกรอบเพดานในแต่ละปี
กำลังโหลดความคิดเห็น