xs
xsm
sm
md
lg

คลังรื้อแผนอุ้มอสังหาฯ พร้อมชงมาตรการภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังรื้อแผนกระตุ้นอสังหาฯ เล็งให้สิทธิผู้ซื้อบ้านนำส่วนลดจากราคาบ้าน 20-30% มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษีรายปีได้แทนเพิ่มเพดานลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ “กรณ์” เผย มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจเสร็จแล้ว เตรียมให้นายกฯ พิจารณาเพื่อเสนอ ครม.เน้นส่งออก-นำเข้า ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ปรับลดในช่วงนี้ เหตุรัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้เงินออมภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปลงตัวระหว่างการขยายเพดานหักค่าลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาทต่อปี เนื่องจากได้มีข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมในส่วนของการให้สิทธิกับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสามารถนำส่วนลดจากราคาอสังหาฯในสัดส่วน 20-30% แต่ไม่เกิน 2-5 แสนบาทต่อปี นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษีรายปีได้ ซึ่งมองว่า มาตรการหลังนี้น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า และสามารถเพิ่มความต้องการซื้อบ้านให้ผู้ต้องการมีบ้านมากกว่าด้วย

“มาตรการกระตุ้นอสังหาฯยังไม่สรุป เพราะเห็นว่าหากให้ส่วนลดกับผู้ซื้อบ้านไปเลยจะกระตุ้นได้ตรงจุดกว่า ขณะเดียวกัน อาจมีการยกเลิกมติ ครม.ที่ต่ออายุมาตรการภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ไปจนถึง มี.ค.ปี 2553 ก็จะให้สิ้นสุดแค่ มี.ค.ปีนี้แทน เนื่องจากมาตรการเหล่านี้เป็นการให้สิทธิกับผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค” แหล่งข่าวระบุ

***คลังชงแผนลดภาษีเสนอมาร์ค

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้จัดทำมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเสร็จ และเตรียมจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจพิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ภายใต้หลักการปรับลดภาษีเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะมีความสำคัญแต่จะยังไม่ปรับลดในช่วงนี้ เพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้เงินออมจากภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

“การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องเป็นผู้นำกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยข้อได้เปรียบหลักของเรา คือเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศดีมาก สามารถใช้เงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่กว่าหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน แต่สถาบันการเงินไทยมีเสถียรภาพสูงมาก บริษัทเอกชนก็มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำมาก ดังนั้น หากเร่งฟื้นความเชื่อมั่นซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลต่อการจับจ่าย และการลงทุนได้เร็ว ก็จะทำให้สภาพคล่องในระบบและความสามารถในการขยายการลงทุนของประเทศเดินหน้าได้เร็วตามไปด้วย” นายกรณ์ กล่าว

สำหรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภายหลังจากรัฐบาลได้จัดทำงบขาดดุลเพิ่มเติมนั้น คงไม่มีใครทราบได้ว่าจีดีพีจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่จากมาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลออกมา ซึ่งต้องขึ้นกับรอบการหมุนของเงินที่มีความเป็นไปได้ของผลบวกที่อาจจะส่งผลให้จีดีพีทั้งปีถึง 2% หรือน้อยกว่านั้น แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นร่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น