น้ำมันขาลง ปตท.กลับลำเบรกขึ้นราคาก๊าซ "เอ็นจีวี" กิโลกรัมละ 11 บาท อ้างต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน ก่อนตัดสินใจ ผู้ประกอบการขนส่งโวย ถูกรัฐบาลชุดก่อนหลอกติดตั้งถังก๊าซ แต่ไม่มีการขยายปั๊ม แถมยังจะปรับขึ้นราคาอีก ทั้งที่ไทยมีแหล่งผลิตในประเทศ ไม่มีต้นทุนนำเข้า หวั่นถูกใช้อ้างของบลงทุน แต่กลับมีกำไรเป็นแสนล้าน เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นใหญ่
วันนี้ (20 ธันวาคม 2551) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) โดยยืนยันว่า ปตท.จะดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดก่อน ที่อนุมัติให้ ปตท.ปรับขึ้นในปี 2552
สำหรับราคาก๊าซ "เอ็นจีวี" ที่จะปรับขึ้นเป็น 11 บาทต่อลิตร นั้นเป็นเพียงข่าวที่ออกมาเท่านั้น การปรับขึ้นราคาคงต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน และต้องอยู่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะให้ปรับขึ้นเท่าไหร่หรือเมื่อใด อาจจะไม่ใช่วันที่ 1 มกราคม 2552 ในทันที แต่อาจเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือเดือนอื่นที่เหมาะสม
ขณะที่รายงานข่าวจากระทรวงพลังงาน ระบุว่า มีแนวโน้มว่ากระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอให้ทบทวนมติ กพช. ซึ่งกำหนดกรอบให้ ปตท. ปรับขึ้นเอ็นจีวีได้ไม่เกิน 12 บาทต่อกิโลกรัม จากอัตราปัจจุบันที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 1 มกราคม 2552 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันลดต่ำอย่างมาก หากปรับขึ้นจะสวนทางนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน
สอดคล้องกับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ก็ออกมาประกาศหนุนแนวคิดของ ปตท. โดยไม่ต้องการให้ขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี เพราะจะเพิ่มต้นทุนการขนส่ง โดยจะยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงาน ในวันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2551 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากผลการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ต้องการให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกและผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปประหยัดพลังงาน และหันไปใช้พลังงานทดแทน เมื่อครั้งมีปัญหาวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ตอนนั้น รัฐบาลชุดก่อนได้พยายามส่งเสริมและอุดหนุนให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าทั่วประเทศ นำรถบรรทุกไปปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และติดตั้งระบบเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าชเอ็นจีวี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่มาถึงวันนี้ ราคาน้ำมันลดลง แต่ ปตท.กลับมาประกาศขึ้นราคาก๊าชเอ็นจีวี โดยติดขัดเรื่องการลงทุน และมีค่าใช้จ่ายสูงในการขยายสถานีบริการ ทั้งที่แหล่งผลิตก๊าชก็อยู่ในประเทศไทย ไม่มีค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด"