ปตท.ประกาศขึ้นราคาก๊าซ NGV กิโลกรัมละ 11 บาท จากราคาเดิม 8.50 บาท อ้างแบกต้นทุนอ่วม พร้อมระบุ ราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.50 บาท
วันนี้ (17 ธันวาคม 2551) นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสภานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงโดยเฉพาะกลุ่มดีเซล ทำให้ ปตท.เตรียมเสนอปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี 11 บาทต่อดิโลกรัม หลังจากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ปรับเพิ่มในราคาเพดานไม่เกิน 12 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2552
การประกาศปรับราคาครั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป จากราคาปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุที่ต้องขึ้นราคา ปตท.ระบุว่า มีต้นทุนทั้งระบบการจำหน่ายก๊าซอยู่ในระดับสูง และราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริงอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม กพช.ยังกำหนดให้การปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ต้องขึ้นไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งการปรับขึ้นในอัตรา 11 บาทต่อกิโลกรัม จึงถือว่าเหมาะสมแล้ว
นายณัฐชาติ กล่าวยอมรับว่า ตั้งแต่ ปตท.เริ่มจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี จนถึงปัจจุบัน ปตท.มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โดยปีนี้รับภาระขาดทุน 3,700 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุน 1,900 ล้านบาท และปี 2549 ขาดทุน 1,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดต่ำมาก ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันลดลง โดยปัจจุบันยอดการติดตั้งเอ็นจีวีของรถยนต์อยู่ที่ 150-200 คันต่อวัน จากเดิมที่ในช่วงราคาน้ำมันสูงสุดกว่า 40 บาทต่อลิตร ยอดการติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 450-500 คันต่อวัน ดังนั้น เมื่อยอดติดตั้งลดลง ปตท.จึงอยู่ระหว่างการทบทวนแผนลงทุนทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้การเปิดสถานีจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี ยังเป็นไปตามแผนเดิม คือ 300 แห่ง จากที่ขณะนี้มี 275 แห่ง ครอบคลุม 44 จังหวัด และในส่วนปริมาณความต้องการใช้อยู่ที่ 2,800-2,900 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายมีกว่า 3,000 ตันต่อวัน
ส่วนแผนการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติที่มีเป้าหมาย ทั้งเพื่อการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า และรองรับความต้องการใช้เอ็นจีวี แผนดังกล่าวคงต้องชะลอ เพราะความต้องการใช้พลังงานทั้ง 2 ส่วนได้ชะลอลง โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กระทรวงพลังงานได้ประกาศชะลอออกไป 1 ปี
ดังนั้น การก่อสร้างท่อก๊าซจึงไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ โดยโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ ปตท.มี 3 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิม คือ 1.เส้นสายใต้ราชบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 22,000 ล้านบาท กำหนดเดิมจะก่อสร้างเสร็จในปี 2554 2.ท่อสายอีสาน สระบุรี-โคราช วงเงิน 16,000 ล้านบาท เดิมจะแล้วเสร็จปี 2553 และ 3.สายเหนือ พระนครศรีอยุธยา-นครสวรรค์ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิมจะเสร็จปี 2554
ทั้งนี้ ในวันนี้ ปตท.ได้ร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรช่างติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีมาตรฐานสำหรับรถยนต์ประจำปี 2551 ในโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถยนต์ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มช่างที่มีความเชี่ยวชาญ และส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ก๊าซต่อประชาชนในที่สุด