รักษาการ รมว.คลัง หักเหลี่ยมกรอบเงินเฟ้อแบงก์ชาติ 0.5-3.0% สั่งปรับใหม่-ขยายให้กว้างขึ้น เพื่อต้อนรับขุนคลังคนใหม่ พร้อมค้านข้อเสนอลดแวต 7% เหลือ 4% เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายรากหญ้า
วันนี้ (18 ธันวาคม 2551) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า ตนเองได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้คลังพิจารณาที่ 0.5-3.0% โดยพิจารณาว่า อัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมเพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
นายสุชาติ กล่าวถึงเหตุผลในการพิจารณากรอบเงินเฟ้อใหม่ โดยระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และประชาชนมีรายได้ต่ำ ดังนั้น ตนเองจึงมองว่า กรอบเงินเฟ้อควรสูงกว่านี้ เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อและอำนาจการผลิต ทำให้มีการจ้างงานต่อเนื่อง ซึ่งกรอบเฟ้อพื้นฐานไม่ควร ต่ำกว่า 1.0-1.5% และอาจจะมากกว่า 3% ได้อีกเล็กน้อย
นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ธปท.ยังคงยึดการใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในการบริหารนโยบายการเงิน แม้จะถูกมองว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน
นายสุชาติ กล่าวว่า ตนเองต้องการให้มีการกำหนดกรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2552 ด้วยว่า ควรจะอยู่ในระดับเท่าใด เพื่อให้ภาคธุรกิจเกิดความมั่นใจในจำนวน แรงงานและการจ้างงาน เพื่อเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ หากทำได้ต่ำกว่ากรอบที่กำหนด ทั้ง 3 หน่วยงาน ก็ต้องรับผิดชอบ
นายสุชาติ ยอมรับว่า ขณะนี้การออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งสศค. ประมาณการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1.58 ล้านล้านบาท จะต่ำกว่าเป้า 1-1.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้การทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมจะทำ ได้แค่ 4-5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้จะทำเพิ่ม 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะต้อง คิดหาทางดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจจะดำเนินการอย่างไร
“ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลตอนนี้ ก็เหนื่อยทั้งนั้นที่จะทำให้เศรษฐกิจ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่ดูแลเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ก็ขอแบ่งความสำเร็จให้รัฐบาลเก่าด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลที่ผ่านมา ก็ได้ทำอะไรไปเยอะ”
นายสุชาติ ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้บริหาร ธปท. และภาคเอกชน ที่ออกมาเสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือแค่ 4% เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บอยู่ต่ำมากแล้ว และการลดภาษีจะทำให้เสียรายได้จำนวนมาก มีผลกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณปี2552 เกินกรอบกฎหมาย
นายสุชาติ กล่าวว่า หากจะปรับโครงสร้างภาษี ควรปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือแค่ 25% เพราะจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เป็นการกระตุ้นการลงทุนทำให้เกิดการ จ้างงาน และเป็นการดึงนักลงทุนต่างประเทศที่ย้ายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาลงทุน ในไทย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะในปี 2552 ประมาณการว่าเศรษฐกิจ จะขยายตัว 2.0% โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ 0.5-2.0%