ผู้บริหาร ธปท.ชี้ แนะรัฐใหม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องคิดนอกกรอบ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงลึกมากกว่านี้ หวั่นจัดสรรงบกลางปี 1 แสนล้านบาท ล่าช้า แนะอัดฉีดโครงการขนาดเล็ก ไม่มีภาระผูกพัน
วันนี้ (16 ธันวาคม 2551) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชิงนโยบาย โดยระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรที่จะมีการคิดนอกกรอบ เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มากกว่าการเมือง และควรเร่งสร้างความเชื่อมั่น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงลึกมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการคลัง ยังต้องรอการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่คงไม่กล้าจัดทำงบผูกพันพิเศษ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้งบกลางปี วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการจัดสรรให้กับโครงการใด
ดังนั้น แนะว่า รัฐบาลใหม่ควรหันมาเน้นการส่งเม็ดเงินลงสู่โครงการขนาดเล็ก เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะหากเป็นโครงการขนาดใหญ่จะใช้เวลาล่าช้า ไม่รวดเร็ว
นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่า งบประมาณ 100,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องให้ความสำคัญกับคนว่างงานมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรที่จะมาตรการช่วยเหลือ โดยทำเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เป็นภาระผูกพันทางการคลัง
สำหรับนโยบายด้านการเงิน ธปท.ยืนยันว่า สภาพคล่องของประเทศไทยในระบบยังมีอยู่สูง พร้อมระบุว่า ธปท.พยายามดูแลให้สภาพคล่องเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยสภาพคล่องทั้งระบบโดยรวมอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในแต่ละวัน ธปท.ก็คืนสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์วันละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็นำกลับมาฝากที่ ธปท.ทุกวัน
นอกจากนี้ ยังมีสภาพคล่องที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถขายออกมาได้อยู่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท และมีส่วนที่อยู่ในตราสารหนี้ระยะสั้นอีกส่วนหนึ่ง จึงรวมเป็น 1 ล้านล้านบาทดังกล่าว
นางอัจนา ระบุว่า ธปท.พยายามประกันว่าสภาพคล่องมีอยู่สูงมาก แต่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ความเต็มใจในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง