ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย สภาพคล่องแบงก์พุ่ง 1.35 แสนล้าน สวนทางสินเชื่อที่มีสัญญาณชะลอตัว ยันสภาพคล่องล้นไม่ได้บ่งชี้ถึงสภาวะทางการเงินของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่มีแนวโน้มจะเผชิญกับความยากลำบาก และประสบกับภาวะฝืดเคืองมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่กลับสู่ภาวะปรกติ ส่งผลให้ความเสี่ยงยังคงระดับสูง และมีแนวโน้มที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยพบว่า สินทรัพย์สภาพคล่องปรับเพิ่มขึ้นมากจากสิ้นเดือนตุลาคม 2551 และสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1.35 แสนล้านบาท จาก 1.77 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย เป็นจำนวนมากถึง 1.46 แสนล้านบาท ตามการระดมเงินผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ระดับอัตราดอกเบี้ยจูงใจของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้นเพียง 8.31 พันล้านบาท ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง นำโดยการเพิ่มขึ้นของของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 9.83 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.15 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.32 หมื่นล้านบาท มาที่ 5.35 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องลดลง 6.24 พันล้านบาท มาที่ 2.20 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 1.12 แสนล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดกลางจำนวน 9.56 หมื่นล้านบาท และ 5.49 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 3.86 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังประเมินว่า แม้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยจะขยับขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2551 ตามการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝาก ในขณะที่สินเชื่อเริ่มชะลอตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าว ก็ไม่ได้บ่งชี้ถึงสภาวะทางการเงินของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่มีแนวโน้มจะเผชิญกับความยากลำบาก หรือประสบกับภาวะฝืดเคืองมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ยังคงมีความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีระดับสูง สะท้อนได้จากการขยายสินเชื่อที่เริ่มชะลอลง คงจะเอื้อต่อการที่ทางการไทยจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะข้างหน้า