xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีหน้าจีดีพีไตรมาสแรกติดลบ แนะลดหย่อนภาษี-กดดบ.0.5-1%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิตประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 2-3% แต่ไตรมาสแรกทรุดหนักสุดจีดีพีมีโอกาสติดลบ และหลังจากนั้นจะทรงตัวหากไม่มีวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงซ้ำเติมอีก เสนอแนะลดหย่อนภาษีให้กิจการกรณีไม่มีเลิกจ้าง ลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5-1% และปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนตามกลไกตลาด

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 52 จะอยู่ระหว่าง 2-3% ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายระหว่าง 1.7-2.2% ในปี 52 เมื่อเทียบกับปีนี้ที่ขยายตัว 3.7% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอยู่แล้ว ขณะที่ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองภายในประเทศได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลกต่างปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของไทย และ มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากที่ 0.5-1%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไม่เจอปัญหาเงินฝืดและเศรษฐกิจทั้งปีไม่ติดลบ แต่มีความเสี่ยงติดลบเฉพาะในไตรมาสแรก ส่วนอัตราเงินเฟ้ออาจจะติดลบเฉพาะเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีหน้า เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ปี 52

"ฟันธงว่าไตรมาสแรกปีหน้าเลวร้ายสุด อาการหนัก คนตกงานกว่า 1 ล้านคน กรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยจะติดลบเล็กน้อยในไตรมาสแรกไม่เกิน -0.5%หลังจากนั้นจะทรงตัวหากไม่มีวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงซ้ำเติมอีกสามไตรมาสที่เหลือจะเติบโตเป็นบวกเล็กน้อยและจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่"นายอนุสรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยออกเป็นสามกรณีโดยที่ กรณีดีที่สุด (Best Case) เศรษฐกิจโลกขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้คือ 2.0-2.2 % และวิกฤตการณ์การเมืองยุติอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลมีเสถียรภาพมาก กรณีมีความเป็นไปได้ไม่สูงนัก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3% อัตราเงินเฟ้ออยู่ 1% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.3% หรือประมาณ 900,000 คน กรณีพื้นฐานหรือกรณีปกติ (Base Case) เศรษฐกิจโลกขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 1.7-2.0% และวิกฤติการณ์การเมืองยุติความขัดแย้ง แต่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและอาจจะมีการยุบสภาในปี 52 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ 0.5% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.7% หรือประมาณ 1,000,000 คน

และกรณีเลวร้าย (Worst Case) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้คือต่ำกว่า 1.7% และ วิกฤติการณ์การเมืองดำเนินต่อไปและมีความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรง รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ กรณีนี้มีความเป็นไปได้น้อย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.0% อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ -0.5% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.2% หรือประมาณ 1,200,000 คน

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะนโยบายเร่งด่วนและทางออกให้รัฐบาลใหม่ อาทิ เสนอแนะลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษสำหรับกิจการที่ไม่มีเลิกจ้างในปี 52 เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือนช่วงครึ่งปีแรกของปี 52 รวมถึงขอความร่วมมือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75-1% และ อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมด้วยการซื้อพันธบัตร มีมาตรการจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ SMEs แต่ต้องกำกับดูแลโดยปล่อยให้เป็นการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของธปท. การปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนตามกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว และลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% โดยให้ชดเชยรายได้ภาษีของรัฐด้วยการขึ้นภาษีน้ำมัน ภาษีบุหรี่และสุราแทน หรือ พิจารณาความเป็นไปได้ในเก็บภาษีมรดก เป็นต้น

"การชิงไหวชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาลของทั้งสองขั้วเป็นธรรมชาติของการเมือง ใครจะเป็นรัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจง่ายขึ้น เพราะวิกฤตการณ์การเมืองคลี่คลายบ้างแล้วโดยเฉพาะการยุติประท้วงปิดสนามบินแต่จะดียิ่งขึ้นหากได้รัฐบาล และทีมเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนและนักลงทุนควรจะมีประสบการณ์และผลงานก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น ขั้วไหนเป็นรัฐบาลไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาล การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งทำให้นักการเมืองเกรงใจและกลัวการตรวจสอบมากขึ้น ทำให้มีการเลือกคนที่มีคุณภาพดีขึ้นมาเป็นรัฐบาล"นายอนุสรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น