xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์จัดอันดับเครดิต UOBT-BAY

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ประกาศคงเครดิตสากลสกุลเงินต่างประทเศระยะยาวและระยะสั้นของแบงก์ยูโอบีไทย พร้อมปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็น C จาก C/D และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้แบงก์กรุงศรีฯที่ AA-(tha)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) (UOBT) ได้แก่ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ "A-" แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ "F2" อันดับเครดิตสนับสนุนที่ "1" อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ "AA+(tha)" แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ "F1+(tha)" ขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT เป็น "C" จาก "C/D" เนื่องจากธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ เงินกองทุน และผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากการที่ UOBT เป็นธนาคารขนาดเล็กและมีเครือข่ายสาขาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่ง ถือเป็นปัจจัยที่จำกัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT

โดยอันดับเครดิตของ UOBT มีพื้นฐานมาจากการที่ United Overseas Bank ของสิงคโปร์(UOB) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ "AA-" ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 99.6% เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและความแข็งแกร่งของ UOB รวมทั้งชื่อของ UOBT ที่ใกล้เคียงกับบริษัทแม่ของธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ UOBT จะได้รับการสนับสนุนจาก UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการเมืองในประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรง จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นและอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในอนาคต

นอกจากนี้ โดยประมาณ 80% ของฐานการระดมเงินของธนาคารอยู่ในรูปเงินฝาก โดยมีสัดส่วนเป็นเงินฝากระยะสั้นสูงถึง 83% (มีอายุสั้นกว่า 6 เดือน) แต่จากการที่ UOBT มีสัดส่วนสินเชื่อระยะสั้น (call loans) อยู่สูงถึง 20% ของสินเชื่อทั้งหมด และธนาคารยังมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูงถึง 10.5% ของสินทรัพย์รวม ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของธนาคารได้

ขณะที่ฐานะเงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของ UOBT จัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.6% และเงินกองทุนรวมที่ 18.9% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) โดยธนาคารได้มีการเพิ่มทุนจำนวน 2.3 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าว คาดว่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงในปี 2552 ได้

**ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้BAYที่ AA-(tha)**

นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) แก่หุ้นกู้ประเภทไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิ มูลค่ารวมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท และมีอายุไม่เกิน 4 ปี ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ระดับ "AA-(tha)" ในขณะที่ตัวธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ รวมถึงสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารและการสนับสนุนทางด้านการดำเนินงานและด้านการเงินจาก GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ซึ่งขณะนี้ถือหุ้นใน BAY อยู่ 33% การให้การสนับสนุนจาก GECIH ที่สูงขึ้น คาดว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจในส่วนลูกค้ารายย่อยของ BAY มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของธนาคารดีขึ้นได้ในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าในระยะสั้นผลการดำเนินงานของธนาคารมีโอกาสที่จะอ่อนแอลง แต่คาดว่าสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารจะสามารถรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2552 ได้

และด้วยเงินลงทุนจาก GECIH มูลค่า 32 พันล้านบาท และการใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญอีก 9.7 พันล้านบาทในปี 2550 ส่งผลให้ BAY เป็นหนึ่งในธนาคารไทยที่มีระดับเงินกองทุนสูงที่สุด โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.7% และมีเงินกองทุนรวมที่ 17.7% อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะลดลงเล็กน้อย จากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำหรับความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของ Basel 2 ภายในสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น