xs
xsm
sm
md
lg

FIF ลดถือหุ้นหนี้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.เอ็มเอฟซี ปรับพอร์ตกองทุนเอฟไอเอฟหนีวิกฤต ลดสัดส่วนลงทุนหุ้นเหลือ 30-35% จากเดิม 65-80% จากวิกฤตสถานบันการเงินที่คาดส่งผลยาวจนถึงสิ้นปี โดยโยกไปฝากธนาคารแทน เหตุตลาดบอนด์ผันผวนเช่นกัน

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอยู่ในขณะนี้ ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ด้วยการดึงเงินลงทุนออกจากการลงทุนในหุ้นไปลงทุนในเงินฝากแทน โดยยกเว้นกองทุนเปิด เอ็มเอฟซี โกลบอล อิควิตี้ ฟันด์ (MGE) เท่านั้น โดยกองทุนที่ดึงเงินลงทุนกลับมานั้น เป็นกองทุนเอฟไอเอฟที่เอ็มเอฟซีบริหารเอง และกองทุนที่เราจ้างผู้จัดการกองทุนบริหารให้ ส่วนกองทุนประเภท Feeder Fund หรือกองทุนที่มีกองทุนหลักในต่างประเทศกองเดียว ไม่สามารถดึงกลับมาได้

ทั้งนี้ จากการปรับพอร์ตดังกล่าว ทำให้พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นเฉลี่ยอยู่ประมาณ 30-35% จากสัดส่วนการลงทุนเดิม 65-80% ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนดังกล่าว ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องคงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็นเท่าไหร่ แต่เรามองว่าในระดับ 30-35% ถือว่าเป็นเพดานที่เหมาะสม เพราะตัวหุ้นที่กองทุนลงทุนอยู่ โดยพื้นฐานแล้วยังสามารถลงทุนได้ และยังมีกำไรต่อเนื่อง ซึ่งราคาหุ้นที่ปรับลดลง ก็เป็นผลมาจากการปรับลดลงของตลาดมากกว่า ดังนั้น เราจึงคงสัดส่วนการลงทุนระยะยาวเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ตามกฏการลงทุนของกองทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ว่าจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ดังนั้น การดึงเงินลงทุนออกจากหุ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะนำไปฝากในสกุลเงินบาท และอีกส่วนหนึ่ง กองทุนจะเปิดบัญชีเงินฝากในต่างประเทศในสกุลเงินต่างๆ รวมถึงอาจจะเปิดบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศในธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย

โดยในส่วนของเงินฝากต่างประเทศนั้น น่าจะกำหนดอายุการฝากเงินเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็จะสามารถนำเงินไปลงทุนต่อได้ทันที ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่เลือกลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก ตราสารหนี้เองก็เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาผลตอบแทนเองก็ปรับลดลง ขณะเดียวกันยังคงมีความผันผวนสูงเช่นกัน

นายพิชิตกล่าวว่า ในส่วนของผู้ลงทุนนั้น ที่ผ่านมาเราให้ข้อมูลโดยละเอียดว่า กองทุนที่ลงทุนอยู่เป็นอย่างไรบ้าง บริษัทที่ลงทุนนั้นได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งนักลงทุนเองก็เข้าใจและส่วนใหญ่ไม่ขายออกมาแต่อย่างใด โดยเราจะแนะนำให้ลูกค้ารอดูสถานการณ์ไปอีก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า บรรดาบริษัทในต่างประเทศเองจะทยอยจ่ายเงินปันผลซึ่งน่าจะทำให้กองทุนปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง ดังนั้น จึงยังไม่แนะนำให้ขายออก เช่นเดียวกัน สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะซื้อกองทุนต่างประเทศในช่วงนี้ เราก็จะแนะนำให้รอไปอีก 6 เดือนเพื่อรอดูสถานการณ์อีกครั้งเช่นกัน

"ในช่วงนี้ เอ็นเอวีของกองทุนต่างประเทศ น่าจะเริ่มนิ่งและอยู่ตัวแล้ว อาจจะมีการปรับลดลงบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งบางส่วนอาจจะมีการเข้าไปซื้อเพื่อทำกำไรและออกมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงนี้ เราเองมีการติดตามการลงทุนทั่วโลกทุกวันอยู่แล้ว"นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ กองทุนเอฟไอเอฟจะสามารถเอาเงินกลับเข้าไปลงทุนได้อีกเมื่อไหร่นั้น มองว่าหลังจากนี้ ไปจนถึงสิ้นปีตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังผันผวนอยู่ เพราะยังมีปัจจัยลบทางด้านการเงินและการเมืองอยู่สำหรับประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา แต่หลังจากผ่านการเลือกตั้งประธานธิบดีและได้ผู้นำคนใหม่แล้ว รวมถึงมีการประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจออกมาชัดเจน ก็น่าจะเห็นผลจากนโยบายดังกล่าวว่าเศรษฐกิจอเมริกาถอถอยมากแค่ไหนในช่วงประมาณไตรมาสแรกของปีหน้า และน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปี ซึ่งช่วงนั้นอาจจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับกองทุนต่างประเทศของเอ็มเอฟซี ที่มูลค่าหน่วยลงทุนปรับลดลงค่อนข้างรุนแรง เช่น กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเวสท์ โกลบอล อะกริบิซซิเนส ฟันด์ (I-AGRI) ล่าสุดมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 5.0006 บาท กองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อินเวสท์ เอเชี่ยน อิควิตี้ (I-ASIA) 3.6469 บาท กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ชิค ฟันด์ (I-CHIC) 4.9156 บาท กองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล แนชเชอรัล รีซอร์ส ฟันด์ (I-NATURAL) 5.1974 บาท กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเวสท์ เอเชีย อินฟราสทรัคเจอร์ ฟันด์ (IAINF) 4.6126 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น