xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยนอกกดดันบาทอ่อนค่าต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวโน้มเงินบาทสัปดาห์นี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่องคาดแกว่งตัวในกรอบ 34.90-35.20 บาท หลังร่วงแตะ 35.08 บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน เผยปัจจัยที่ยังต้องจับตากรณีผลการประชุมธนาคารประเทศในกลุ่มยุโรป และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ก่อนที่อ่อนค่าลงทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ยังต้องจับตามองเป็นกรณีของการประชุมธนาคารกลางยุโปรในช่วงกลางสัปดาห์ ที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามธนาคารสหรัฐฯ สอดรับกับคาดการณ์ถึงภาวะที่ชะลอตัวและจะต้องปรับลดดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้น ซึ่งจะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามดูตัวเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯ อาทิ การขอใช้สวัสดิการว่างงาน ดัชนีเงินเฟ้อต่างๆ ที่จะออกมาในสัปดาห์นี้ด้วย เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้

"เมื่อสัปดาห์ก่อนค่าเงินบาทผันผวนเล็กน้อยโดยต้นสัปดาห์อ่อนค่าลง แล้วกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงวันพุธ-พฤหัสฯหลังจากที่ทางบลาซิลทำเงินสวอปกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีเงินดอลลาร์ในระบบมากขึ้น แต่พอวันสุดท้ายของสัปดาห์เงินดอลลาร์ก็กลับแข็งค่าขึ้นอีก เพราะมีดีมานด์สูง จากการปิดรอบบัญชีของบริษัทต่างๆ และแนวโน้มนี้ก็คงจะยังเป็นอยู่ในอีกระยะหนึ่ง"

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ อาจจะมีทั้งอยู่เหนือและต่ำกว่า 35 บาท โดยกรอบอยู่ที่ 34.90-35.20 บาท แต่แนวโน้มไปในทิศทางอ่อนค่า เพราะหากเทียบกับสกุลอื่นๆแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีความต้องการมากกว่า

"ในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าทางแบงก์ชาติก็คงจะเข้ามาดูแลบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ไม่ถึงทำให้เกิดการขึ้นลงอย่างกระชาก และเชื่อว่าแบงก์ชาติก็น่าจะพอใจกับทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่าลง เพื่อหนุนการส่งออก หลังจากที่ราคาน้ำมันเริ่มขยับลดลงมาก"

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.70-35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ควรจับตาประกอบด้วย ทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางออสเตรเลีย ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงาน ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนตุลาคม ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน ข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่ง เดือนกันยายน และข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 3/2551

สำหรับในช่วงสัปดาห์ก่อนเงินบาทในประเทศร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุน (นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยเช่นกัน) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้นำเข้าน้ำมันและทองคำอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เงินบาทสามารถฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงต่อมา หลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐเผชิญแรงเทขายทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตลอดจนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ ช่วยบรรเทาความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เงินบาทร่วงลงอีกครั้งเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในช่วงปลายสัปดาห์ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 19 เดือนที่ระดับประมาณ 35.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเทียบกับระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า เนื่องจากมีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ จากผู้นำเข้า ตลอดจนความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นเดือน ขณะที่ ปัญหาการเมืองในประเทศก็เป็นปัจจัยลบของเงินบาทด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น