xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนหุ้นดิ่ง12.32% ฟันด์แมเนเจอร์แนะถือเงินสดเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนหุ้นดิ่งรับวิกฤติการเงินโลกและมรสุมการเมือง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน ภายหลังจากที่ปัญหาทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นจากที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินภายหลังเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรและกลุ่มต่อต้านพันธมิตรขึ้น และผลจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบกับมีข่าวร้ายจากการที่ Lehman Brothers สถาบันการเงินชั้นนำของโลกได้ยื่นขอล้มละลาย และธนาคารกลางสหรัฐฯได้เข้าช่วยเหลืออัดฉีดเงินแก่ AIG เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ได้กดดันให้ตลาดหุ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนดิ่งเหว โดยเฉพาะดัชนี SET ได้ปรับลงทะลุ 570 จุด และในช่วงปลายเดือนสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯได้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสภาผู้แทนราษฏร์สหรัฐฯมีมติไม่รับแผนช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยได้ลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 568.18 จุดก่อนที่จะปิดที่ 594.54 จุด หรือลดลงร้อยละ 12.84 ในวันที่ 30 กันยายน

ผลของวิกฤตทั้งจากปัญหาการเมืองในประเทศ และปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งได้เทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก ในเดือนกันยายน นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 จำนวน 2.75 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มียอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 1.25 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยยังคงซื้อสุทธิจำนวน 8.7 และ 18.9 พันล้านบาทตามลำดับในเดือนกันยายน สำหรับตลาดหุ้นในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกับตลาดหุ้นประเทศไทย โดยในเดือนสิงหาคมก็ปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 10 เช่นเดียวกัน

ผลของวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปได้ฉุดให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยได้อ่อนค่าเลงร้อยละ 1.18 และ 6.05 เทียบกับค่าเงินบาทตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินเยนซึ่งถือว่าปลอดภัยที่สุดในภาวะที่ตลาดเงินโลกมีความเสี่ยงสูงได้กลับแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.02 เทียบกับค่าเงินบาท

ภาวะกองทุนรวม
ผลจากวิกฤติสถาบันการเงินโลกและปัญหาทางการเมืองได้กดดันให้ภาพรวมผลตอบแทนกองทุนรวมในเดือนกันยายนติดลบร้อยละ 3.79 โดยกองทุนรวมหุ้น (Equity funds) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยดิ่งลงโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 12.32 และกองทุนรวมผสม (Mixed assets funds) ลดลงร้อยละ 8.50 นอกจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแล้วราคาน้ำมันดิบ Brent ก็ได้ร่วงลงตามถึงร้อยละ 17.53 ในเดือนกันยายน กดดันให้ผลตอบแทนกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities funds) มีผลตอบแทนติดลบร้อยละ 12.15 ขณะที่กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Protected funds) ขาดทุนเฉลี่ยร้อยละ 0.49 เนื่องจากได้รับผลจากผลขาดทุนของกองทุนที่มีผลตอบแทนเชื่อมโยงกับสินค้าโภคคัณฑ์อย่าง Oil-linked funds ที่มูลค่าลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่กองทุนรวมความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ (Bond funds) และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market funds) มีผลตอบแทนดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.35 และ 0.62 ตามลำดับ

กองทุนรวมตราสารทุน
ผลของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักหลังจากวิกฤตการเงินได้แพร่กระจายจากสหรัฐฯ สู่ยุโรปส่งผลให้ประเภทกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนต่ำที่สุด 10 อันดับอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมหุ้นทั้งหมด อาทิ กองทุนหุ้นลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในยุโรป (Equity Emerging Markets Europe) ติดลบสูงถึงร้อยละ 23.04 เป็นผลจากกองทุนเดียวในกลุ่ม คือ แมนูไลฟ์สเตร็งค์อิเมอร์จิ้งอีสเทอร์นยุโรปเอฟไอเอฟ แม้แต่ประเทศในเอเชียที่คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถรอดจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ได้ แต่ตลาดหุ้นในเอเชียก็ปิดลดลงและส่งผลให้กองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ตะวันออกไกล (Equity Emerging Market Far East) ลดลงสูงถึงร้อยละ 20.37 ขณะที่กองทุนหุ้นที่ลงทุนในทวีปอเมริกาเหนือ (Equity North America) ปรับลดลงร้อยละ 18.01 จากกองทุนเดียวในกลุ่ม กองทุนเปิด วรรณ ยูเอส รีคอฟเวอรี่ ออพพอร์ทูนิตี้ ฟันด์ (1US-OPP)

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงแรงก็ได้ส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ในเดือนกันยายนก็พบว่ากองทุนหุ้นที่ลงทุนในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ (Equity Sector Natural Resource) ปรับลดลงถึงร้อยละ 18.28 โดยเฉพาะ กองทุนเอ็มเอฟซีอินเตอร์เนชั่นแนลแนชเชอรัลรีซอร์สฟันด์ มีผลตอบแทนติดลบถึงร้อยละ 30.01 ซึ่งเป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนต่ำสุดของกองทุนรวมหุ้น (Equity funds) สำหรับกองทุนรวมหุ้นที่มีผลตอบแทนดีในเดือนกันยายนพบว่าเป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสูงในช่วงตลาดที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉลี่ยกองทุนทองคำ (Equity Sector Gold & Precious Metal) ให้ผลตอบแทนร้อยละ 4.57 เป็นผลจากกองทุนเปิดเค โกลด์ และ กองทุนเปิด ทหารไทย โกลด์ ฟันด์ ให้ผลตอบแทนร้อยละ 6.02 และ 3.13 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนหุ้นเพียง 2 กองเท่านั้นมีที่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ในเดือนกันยายน

กองทุนรวมตราสารหนี้
ในเดือนกันยายน แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเรื่องความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ จากการที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 2 กันยายน ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลของปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะการล้มละลายของ Lehman Brothers ได้กดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐฯจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จากการประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรทั้งของไทยและสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ได้ปรับลงในช่วงปลายเดือนอีกครั้ง ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกอายุของไทยในเดือนกันยายนใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีพบว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน แต่ผลจากความไม่มั่นใจในสถาบันการเงินส่งผลให้ธุรกรรมกระจุกตัวในตราสารหนี้ระยะสั้น และส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 เดือนปรับลดลงถึง 125.11 basis points เหลือร้อยละ 0.3752 เท่านั้น

สำหรับผลตอบแทนของกองทุนรวมในเดือนกันยายนพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ 3 ประเภทที่สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ลงทุนทั่วโลก (Bond Global) กองทุนตราสารหนี้ลงทุนในเกาหลีใต้ (Bond KRW) และกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ (Bond THB) มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.82, 0.42, และ 0.32 ตามลำดับ

แนวโน้มการลงทุน
แม้ว่าสถาบันการเงินของไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินสหรัฐฯที่มีปัญหา แต่วิกฤติการเงินในครั้งนี้ที่เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ส่งผลให้สถาบันการเงินและธนาคารในสหรัฐฯล้มลงหลายแห่ง และลุกลามไปถึงยุโรป วิกฤติครั้งนี้เริ่มต้นจากปัญหาสถาบันการเงินจนขยายวงกว้างกลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่น ท้ายที่สุดทางการในหลายประเทศในยุโรปได้เข้าไปแทรกแซงโดยการเข้าอุ้มธนาคารหลายแห่ง และอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบสถาบันการเงิน รวมถึงการประกาศเพิ่มวงเงินประกันเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน เพื่อคลายความวิตกกังวลของทั้งประชาชนและนักลงทุน ขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯก็ได้มีมติรับรองแผนช่วยเหลือสถาบันการเงินวงเงิน 7 แสนล้านสหรัฐฯ เพื่อกู้วิกฤติการเงินครั้งนี้ ล่าสุดก็ได้มีการร่วมมือกันของธนาคารกลางชาติต่างๆ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แสนด์ และธนาคารกลางสวีเดน ปรับลดดอกเบี้ยลงพร้อมกันร้อยละ 0.50 ในวันที่ 8 ตุลาคม เพื่อบรรเทาสถานการณ์การเงินทั่วโลก แม้ว่ามาตรการต่างๆออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินทำได้สำเร็จ หยุดการล้มละลายของสถาบันการเงินได้ แต่วิกฤติการเงินครั้งนี้ได้ลุกลามไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้มีปัญหาใหญ่ที่จะต้องเผชิญต่อไป คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆทั่วโลกในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ ที่ต้องเตรียมรับมือต่อไป

สำหรับประเทศไทย พบว่านอกจากต้องเผชิญกับวิกฤติจากภายนอกแล้วยังต้องรับมรสุมการเมืองในประเทศ จากการประท้วงและการปะทะที่ไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อใด ดังนั้น ในภาวะที่ยังไม่มีข่าวดี ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง กลยุทธ์การลงทุนยังคงเน้นให้น้ำหนักกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง เช่นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลของไทย เป็นต้น สอดคล้องกับรายงานการสำรวจผู้จัดการกองทุนในภูมิภาคต่างๆของ Thomson Reuters Poll ในเดือนกันยายนพบว่าผลสำรวจของผู้จัดการกองทุนทั่วโลกให้น้ำหนักการถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ที่มา : ลิปเปอร์ (ประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น