xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ สับแผน "โอฬาร" บิดเบือนตลาดหุ้น-ไร้ประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบรกเกอร์ ระบุ แผนตั้งกองทุน 1.4 หมื่นล้าน เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นขนาดใหญ่ เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะไม่มีแหล่งที่มาของเงินที่ชัดเจน และการเทขายหุ้นในตลาดฯ เกิดจากต่างชาติมีความจำเป็นต้องขายหุ้นในเอเชีย พร้อมตั้งข้อสังเกตุ มาตรการของรัฐจะใช้ได้ประสิทธิภาพในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือหวังผลทางการเมือง

วันนี้ ( 28 ต.ค.) นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด กล่าวถึงแนวคิดของรัฐบาลที่จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น 1.4 แสนล้านบาท เพื่อเข้ามารับซื้อหุ้นขนาดใหญ่นั้น รัฐบาลควรปล่อยให้ตลาดหุ้นเป็นไปตามกลไกลตลาดจะดีกว่า เพราะต่างชาติมีความจำเป็นที่ต้องขายหุ้นทั่วเอเชีย แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2551 ต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกมาแล้ว 1.4 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม ยังมีเม็ดเงินเหลืออีกที่จะขายต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า เงินที่จะนำมาจัดตั้งกองทุนนั้นมาจากที่ไหน เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผลทางจิตวิทยาเท่านั้น

ด้านนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด ปตท.กล่าวว่า บอร์ดยังไม่ทราบเรื่องที่รัฐบาลจะให้จัดตั้งกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อพิจารณาซื้อหุ้นของกลุ่ม ปตท.โดยในเรื่องนี้ฝ่ายบริหาร กำลังพิจารณาความเหมาะสม

โดยวานนี้ นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เตรียมเสนอมาตรการฉุกเฉินเพื่อพยุงตลาดหุ้น และดูแลหุ้นของ ปตท. ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบต่อแผนการผลิต การส่งออก และนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รวมถึงต้นทุนการจำหน่ายน้ำมัน ซึ่งต้องอิงกับสกุลเงินต่างประเทศ ที่ค่อนข้างผันผวน โดยมาตรการต่างๆ มีดังนี้

1) เร่งรัดให้กองทุน 3 กองทุน ที่จัดตั้งขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ โบรกเกอร์บริษัทจดทะเบียน รวมถึงกองทุนของธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งมีวงเงินร่วม 4 หมื่นล้านบาท เข้าไปทยอยชื้อ โดยจะเร่งให้เข้าซื้อหุ้นใน 1-2 วันนี้

2) รัฐบาลจะออกพันธบัตรอาจเป็นหมื่นล้านบาทเพื่อนำมาลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร และบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นมาตรการปกติที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ก็นำมาใช้ เพียงแต่กลยุทธ์นี้คงจะใช้เวลารอดูสถานการณ์ตลาดหุ้นอีก 15 วัน

3) มอบหมายให้บริษัท ปตท. นำเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เข้าทยอยซื้อหุ้นของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท.ทั้งหมด โดยเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้สามารถลดความตื่นของตลาดได้ แต่คงไม่รีบเข้าในตอนนี้ เพราะราคาหุ้นยังถูกอีกระยะหนึ่ง

โดยบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย ประเมินว่ามาตรการทั้งหมด เป็นเพียงมาตรการที่ช่วยพยุงหุ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจต้องใช้เวลากว่าจะเข้าไปซื้อได้ ดังนั้นเชื่อว่าข่าวดังกล่าวจะมีผลในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น ตลาดหุ้นยังคงมี Downside risk อยู่ ยังแนะนำให้ Wait and see ไปก่อน

ทั้งนี้ คงต้องรอติดตามดูว่า หากรัฐบาลดื้อดึงที่จะผลักดันมาตรการ มีเบื้องลึกอะไรแอบแฝงหรือไม่ และจะใช้ได้ประสิทธิภาพในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า คงเป็นแค่จิตวิทยา และหวังผลทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น