ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดสรรเงินทุน 2 พันล้านบาท จากพอร์ตทั้งหมดกว่าหมื่นล้านบาท ลงขันร่วมกับบลจ.จัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ลงทุนในตลาดหุ้นรวม 12 กองทุน มูลค่ารวม 8.25 ล้านบาท หลังราคาหุ้นรูดยาวต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน-ราคาที่เหมาะสม ระบุเปิดให้บลจ.สนใจเสนอตัวภายใน 12 ก.ย.นี้ ก่อนประเดิมลงทุนได้ในเดือนต.ค. 51 ด้าน "ภัทรียา" ยันไม่มีเจตนาพยุงหุ้น แต่ต้องการขยายฐานนักลงทุนและสร้างนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้น
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดที่จะมีการนำเงินร่วมลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากในช่วงที่ผ่านมามีบลจ.หลายแห่งติดต่อมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าสนใจตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ค่า P/E ปรับตัวลดลงมาพอสมควร และราคาหุ้นบนกระดานหลายบริษัทต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมและปัจจัยพื้นฐาน จนทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีแผนจะจัดโครงการซื้อหุ้นคืน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำเงินเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี
โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับบลจ.ในการจัดตั้งกองทุนในลักษณะกองทุนแมทชิ่งฟันด์ ซึ่งเหมือนกับกองทุนไทยสร้างโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยจัดตั้งเมื่อปี 2545
สำหรับวงเงินลงทุนจำนวนดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนสถาบัน ที่จะระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมลงทุน 1,000 ล้านบาท และบลจ.จะต้องระดมเงินมาลงทุน 4,000 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่ากองทุนรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งการนโยบายการลงทุนในหุ้นนั้นให้ทางกองทุนเป็นผู้พิจารณา แต่หากมีผู้สนใจอาจจะเพิ่มเป็น 2 กองทุน
ส่วนวงเงินอีก 1,000 ล้านบาท จะจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย แบ่งเงินเป็น 10 กองทุน โดย 5 กองทุนแรก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมลงทุนกองละ 100 ล้าบาท บลจ.ร่วมลงทุนกองละ 300 ล้านบาท รวมมูลค่ากองทุนละ 400 ล้านบาท ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง และอีก 5 กองทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมลงทุนกองละ 100 ล้านบาท บลจ.ร่วมลงทุนกองละ 150 ล้านบาท รวมมูลค่ากองทุนละ 250 ล้านบาท จะลงทุนในหุ้นขนาดกลางเล็กที่อยู่ในดัชนีฟุตซี่
"การจัดตั้งกองทุนนี้ไม่ได้เป็นการพยุงหุ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการให้มีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพราะหุ้นลงมีสถาบันหลายแห่งบอกเราว่าสนใจลงทุน แต่ยังรีรอไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุน ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงชวนให้บลจ.เข้ามาลงทุนในหุ้น โดยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมลงทุนด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นก็ต้องการที่จะลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเงิน 2 พันล้านบาท นำมาจากเงินกองทุนที่มีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ลงทุนในตราสารหนี้ มาลงทุน โดยกองทุนจะแบ่งเป็นกองทุนสถาบัน และรายย่อย"
นางภัทรียา กล่าวว่า จากการร่วมลงทุนในกองทุนทั้งหมด 12 กองทุน จะมีมูลค่ากองทุนรวม 8,250 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้กำหนดว่าแต่ละกองทุนจะต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไร เพราะแต่ละบลจ.จะต้องมีการบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด แต่จากที่จัดตั้งกองทุนไทยสร้างโอกาสมีผลตอบแทนเฉลี่ย 24% ต่อปี โดย 6 ปีที่ผ่านให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 120% ถือว่าสูงมาก
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้บลจ.ที่สนใจที่จะมีการจัดตั้งกองทุน หรือนำกองทุนเดิมที่มีอยู่แล้วซึ่งจะมีการเพิ่มทุนเข้ามาให้ตลาดหลักทรัพย์ร่วมลงทุนภายในวันที่ 12 กันยายนนี้ โดยบลจ.จะต้องระดมทุนจากนักลงทุนได้แล้วตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด โดยคาดว่าจะเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเงินร่วมลงทุนกับบลจ.ก็เพื่อต้องการที่จะขยายฐานนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น และหวังว่าจะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้น
"หากบลจ.ไหนมีการระดมเงินทุนได้ตามข้อกำหนดและแจ้งมาก่อน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการอนุมัติก่อนเช่นกัน แต่ถ้าหากมีบลจ.สนใจจำนวนมากนั้นเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอดูความสนใจก่อน ซึ่งตอนนี้เราอนุมัติวงเงินให้ 2 พันล้าน"นางภัทรียา กล่าว