เราได้เห็นการใช้สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา แล้วจึงจะเข้าใจว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขาให้เกียรติแก่สภาฯ แก่ผู้แทนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย ทุกฝ่ายมีบทบาท มีความคิดที่ไม่ควรมองข้าม แต่พึงตอบคำถามตอบผู้แทนประชาชนอย่างโปร่งใส
เราได้เห็นการซักอดีตประธานาธิบดี แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวประเภท กรณีอื้อฉาวกับเด็กสาว จนถึงขั้นประธานาธิบดีสารภาพว่า แม้ไม่ได้ทำผิดถึงขั้นลึกซึ้ง แต่ก็ขอโทษประชาชน และขอโทษครอบครัว ซึ่งเขาก็ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลบ หลีก เลี่ยงแต่อย่างใด เพราะเห็นว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องให้เกิดความกระจ่าง ด้วยความเคารพในสิทธิของประชาชนที่จะรับรู้ปัญหา และคำอธิบายของผู้นำประเทศผู้เป็นบุคคลสาธารณะ และความงดงามอยู่ที่การโต้ตอบ 2 ทาง ซึ่งหากจะมีการปกปิด โป้ปด ก็คงถูกถามหลายๆมุม จนความจริงปรากฏ ต้องถือว่า ผู้นำของเขาให้เกียรติประชาชนอย่างน่าชมเชย กล้าหาญ และให้ความสำคัญกับความชอบธรรม และความโปร่งใสดีทีเดียว
เราได้เห็นการซักถามกรณีการจัดการดูแลเชลยศึกอิรัค อย่างโปร่งใสพอสมควร จนนำไปสู่บทเรียนว่า เขาต้องเคารพสิทธิมนุษยชนเหมือนอย่างที่เขาอยากให้ทั่วโลกรักษาคุณธรรมส่วนนี้ให้ได้เป็นขั้นต่ำแม้กระทั่งอดีตผู้บริหารหน่วยงานของเขาอย่างเช่น อลัน กรีนแสปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางกว่า 18 ปี ผู้ซึ่งสื่อได้ยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งตลาดทุนตลาดเงิน และดูจะได้ช่วยดูแลด้านเศรษฐกิจการเงินมาอย่างเรียบร้อย แต่ขณะนี้ กลับมีส่วนในปัญหาที่เริ่มถูกเรียกว่า เป็น **"ปัญหาสึนามิ ครั้งแรกในรอบศตวรรษ"**
กรีนแสปนผู้เป็นเสาหลักเบื้องหลังการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) เพื่อการแข่งขันเสรี (Liberalization) มาตลอด 3 ทศวรรศ ได้แสดงความประหลาดใจ (shocked) เช่นกันว่า กลไกตลาดที่เขามีความเชื่อเสมอว่าจะช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาได้ กลับทำงานไม่ได้ และกลายเป็นส่วนของปัญหาไป บทเรียนใหญ่สำคัญที่เขายกคือ **"การกำกับดูแล ที่ปราศจากความมีเหตุมีผลเชิงอุดมคติ"** ทำให้เกิดปัญหา และขณะนี้ เศรษฐกิจโดยรวมกำลังต้องจ่ายราคาอันเนื่องจากปัญหานั้น
เขายอมรับว่ามีคนเคยเตือนเขาเป็นระยะๆ เขาก็รับฟังและดำเนินการบ้าง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด ซึ่ง "คำเตือนคำแนะนำก็ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ผิด" เขาเห็นว่า หลายฝ่ายก็มีส่วนต่อปัญหา ความต้องการของผู้ลงทุนทั้งประกันฯ ธนาคาร ที่ต้องการตราสารประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัย และมีการผูกเป็นตราสารอนุพันธ์อยู่ด้วย ทำให้วาณิชธนากรเองก็ไปหาตราสารประเภทนี้มากขึ้น และทำให้ปัญหาสะสมกันขึ้นมาอย่างน่าตกใจ การบริหารความเสี่ยงในสถาบันแต่ละประเภทที่ไม่เข้มแข็งและไม่แม่นยำ ก็ทำให้เป็นปัญหารุนแรง
เขาเสนอว่า ทางออกหนึ่งคือ การที่สถาบันการเงินที่ออกตราสารหนี้ประเภทนี้ ต้องเก็บลงทุนไว้เองส่วนหนึ่งด้วย เพื่อยังให้รักษามาตรฐานของการดูแลความเสี่ยงและเขาก็ยอมรับว่า นโยบายของเขาโดยเฉพาะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไปมีส่วนร่วมทำให้ปัญหาลูกโป่งเศรษฐกิจแตกในรอบนี้ เขาพูดอย่างถ่อมและสุภาพว่า ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ ก็มีผู้มีส่วนร่วมต่อปัญหามากมาย สถาบันการเงิน แข่งขันกันสร้างกำไร โดยบริหารความเสี่ยงรัดกุมไม่พอ หนี้ต่อทุนสูงมาก วาณิชธนากรปรับเงื่อนไขเงินแบบนวัตกรรมจนมาตรฐานความเสี่ยงสูญเสียไป การประเมินความเสี่ยงรายบุคคลในการให้สินเชื่อมีช่องโหว่ ประชาชนใช้เงินเกินตัว ซื้อบ้านใหม่ทุกๆ 3-5 ปีให้ได้บ้านใหญ่ขึ้น จนทำให้เป็นปัญหาขณะนี้ เขามีข้อสรุปว่า **เขาพบศัตรูที่ทำร้ายเศรษฐกิจของเขาแล้ว "ศัตรูนั้น ก็คือพวกเราเอง"**
ผมว่ากระบวนการซักถามเช่นนี้ดีมาก ฟังดูแล้วเชื่อว่า ปัญหาจะหายไปมาก ถ้าได้มายึดถือหลักการ **"เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว** ซาตานก็ล่อลวงมนุษย์ด้วยสิ่งแรกคือ **"ความโลภ"** ในของที่ไม่ใช่ของตัว เมื่ออาดัมกับอีฟหลงเชื่อ ก็เสื่อมจากความชอบธรรม แต่แม้ซาตานจะล่อลวงพระเยซูคริสต์ว่า "ก้มหัวให้กับเรา แล้วเราจะยกนครทั้งสิ้นนี้ให้" พระองค์ก็ทรงปฏิเสธ **ถ้าคนเราไม่ก้มหัวกับความโลภ ความบาป คือ ซาตาน สังคมก็จะอยู่ในความสว่าง และมีสันติสุข มั่นคง**
กรณีของ ริชาร์ด ฟัลด์ (Richard Fuld) ประธานเลห์แมนบราเธอรส์ ก็มีโอกาสที่จะต้องเผชิญสงครามลิ้นในสภา หรืออาจเรียกว่าเป็น **"สานเสวนา"** ก็ได้ มีคนไม่พอใจเขาสูงมาก ที่ทำให้สถาบันการเงินที่เริ่มประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ 1844 แทนที่จะปล่อยให้เรื่องเงียบไป แล้วไปหาพวกในกลุ่มของตัวเอง ก็อาจจะเกิดความขัดแย้ง ความโกรธเกลียดชัง เขาให้สภาได้ทำงาน และริชาร์ดต้องชี้แจง และต้องรับประโยคงดงามไปว่า "เขาได้เอาประโยชน์เข้ากระเป๋าส่วนตัว (Privatize Benefits) โดยทิ้งปัญหาให้ส่วนรวม (Socialize Problems)" เขาถูกถามอย่างโปร่งใสว่า ได้เอาประโยชน์ไปแล้ว 480 ล้านเหรียญ ตั้งแต่ปี 2000 แต่เขาก็มีโอกาสโต้แย้งว่า ไม่มากขนาดนั้น เพียง 300 ล้านเหรียญเท่านั้นเอง และยังได้มีโอกาสชี้แจงว่า ส่วนที่ได้เป็นหุ้นจำนวนมากก็ต้องถือจนถึงวันล้มละลายไป
เห็นสงครมลิ้นได้ทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยที่อเมริกาแล้วน่าประทับใจ กล่าวหาผิดเกินไป ก็เปิดโอกาสให้แก้ไข กล่าวหาผิดเรื่อง ก็โต้แย้งได้ แล้วทุกคนก็มีความจริงเท่าเทียมกัน อย่างกรณีนี้ ความเสียหายมหาศาล ถึงขั้น เมอร์ริล ลินช์ขายตราสารสินเชื่อได้เพียง 22% เลห์แมนหรือสถาบันอื่นๆ ก็ประเมินกันว่าขายตราสารได้ช่วงราคาคล้ายๆกัน 20-40% ก็คล้ายๆบ้านเรา ที่จะขายได้เพียง 30-40% แต่การซักกันอย่างโปร่งใสนี่ ก็ทำให้เห็นว่า มีความผิดด้านการกำกับที่หลวมไป เปิดเสรีมากไป สถาบันการเงินคุมความเสี่ยงมากไป คนกู้มากไป แต่ไม่เห็นมีใครตำหนิคนประมูลขายว่าขายได้ถูกไป เพราะของมันเน่ามีราคาเพียงเท่านั้น ในระยะเร่งรีบ (fire sell) แต่บ้านเรามีความพยายามจับโยงว่า ปรส.ผู้ประมูลขายของทำให้เสียหายหลายแสนล้านบาท ผมว่าไร้สาระสิ้นดี
ถ้าใครไปซื้อของ 20-30% วันนี้ที่อเมริกา มีเยอะแยะ ไม่มีใครตำหนิ อยากให้เข้าไปมากๆ เขาจะได้ขายได้ ถ้าต่อมามันฟื้นตัว จะกำไรมหาศาลก็ไม่แปลก แต่ถ้าไม่ฟื้นก็ขาดทุนเละเทะได้เหมือนกันและเขาก็ไม่ขายให้ลูกหนี้ชักดาบ เพราะถ้าขายคืนลูกหนี้ชักดาบถูกๆ ใครจะสัตย์ซื่อต่อไป ผมทราบว่าดีเอสไอมักจะชักเรื่องนี้ออกมาว่า กำลังตรวจสอบคดีนี้ ขอให้ทำความเข้าใจให้ดีว่า เป็นปัญหาของใครกันแน่นะครับ
สังคมวันนี้ กำลังเรียกร้องหา **"สานเสวนา" เพื่อความปรองดอง** ผมเห็นด้วย 100% และกรณีเช่นนี้ ผู้ต้องมาเสวนา 2 ด้าน คือผู้อยู่ในปัญหา อดีตประธานาธิบดี ทหารผู้ดูแลเชลยศึกอิรัค อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง ประธานสถาบันการเงินที่ล้มละลาย ก็ต้องมาชี้แจงเอง อย่างโปร่งใส ไม่ละทิ้งให้เกิดข้อสงสัย หากเขาเหล่านั้น ไม่ให้การต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่ตอบข้อซักถามของสภาซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เขาคงไม่มีศักดิ์ศรีที่จะบอกว่าเป็น "ตัวแทนแห่งเสรีประชาธิปไตย" ผมเห็นด้วยกับกลุ่มบริสุทธิ์ผู้เรียกร้องให้ "สานเสวนา" และเสวนาเดียวที่จะทำให้เกิดสันติ คือให้โอกาสและความเป็นธรรมกับอดีตผู้นำมาตอบคำถามทุกด้านต่อทุกๆคน และคนไทยทุกคนควรรับฟังด้วยใจรัก เมตตา สามัคคี พร้อมให้อภัยถ้าโต้ตอบหลักฐานต่างๆได้ชัด และพร้อมจะใช้สิทธิตามวิถีทางประชาธิปไตยหากไม่ใช่ ดีกว่าการแบ่งแยกสังคม และต่างคนต่างสื่อความด้านเดียวกับพวกของตัว
**"สงครามลิ้น" ทำให้สงบ อย่ารบกันเป็น "สงครามประชาชน" **
มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)