xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ vs ต้มยำกุ้ง : โอกาสในวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
สถานการณ์ "วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์" คงทำให้เราทุกคนย้อนกลับไปนึกถึง "วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง" เพื่อมองหาบทเรียนสำหรับอนาคต ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องดีครับ มีผู้กล่าวว่า

... เป็นสิ่งดีที่เราได้มีชีวิตชีวิตหนึ่ง

... เราจะได้เผชิญกับปัญหาท้าทายในชีวิต ซึ่งทำให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น และเติบโต

... ปัญหานั้นๆ จะยังวนเวียนมาหาเราเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเรียนรู้
มีหลักคำสอนอยู่ว่า

... ต้นไม้ดีย่อมให้แต่ผลดี ต้นไม้เลวก็ย่อมให้ผลเลว

... ต้นไม้ดีจะเกิดผลเลวไม่ได้ หรือต้นไม้เลวจะเกิดผลดีก็ไม่ได้

... ต้นไม้ซึ่งไม่เกิดผลดีย่อมต้องถูกฟันลงและทิ้งเสียในไฟ

... เหตุฉะนั้น ท่านจะรู้จักเขาได้เพราะผลของเขา

ปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 หรือปัญหาแฮมเบอร์เกอร์ 2008 เมื่อเกิดขึ้น ก็เปรียบเสมือน เด็กเกเร เรียนไม่เก่ง ไม่ตั้งใจเรียน หวังแต่จะผ่านโดยการโกงสอบ หากไม่เรียนรู้ กลับมาสอบใหม่ ก็จะสอบตกอีก บางครั้ง อาจโกงสอบได้ ลอกเพื่อนได้ แต่ก็คงทำไม่ได้ทุกครั้ง เมื่อถึงครั้งทดสอบสำคัญก็ยากที่จะสอบผ่าน ต่อให้สอบผ่านเมื่อทำงานก็จะมีปัญหาเพราะไม่มีความรู้ที่แท้จริง และในที่สุด หากไม่สามารถมีความรู้ที่แท้จริง ก็อาจต้องไปปล้นคนอื่น ไปโกงคนอื่น สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ต้องติดคุกติดตาราง เสียอนาคตสิ่งที่ทุกคนคาดหวังก็คือ เด็กนั้นจะเรียนรู้ ว่าวิธีแก้ไขในทางชอบธรรม คือตั้งใจเรียน พัฒนาความรู้ความสามารถ พร้อมแก้ไขปัญหายากๆ ด้วยความเก่งและความดี สังคมก็จะเข้มแข็ง มีสันติสุข

วิกฤตต้มยำกุ้ง อยู่ในความทรงจำของผมและคนไทยทุกคนอย่างดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า ปัญหาที่สังคมไม่มีความสัตย์ซื่อ โกงกัน เบี้ยวกันอย่างกว้างขวาง ได้สร้างปัญหาให้ระบบอย่างมากมาย ในทุก "วิกฤต" สิ่งสำคัญคือ "โอกาส" ในการเรียนรู้และการ "แก้ไขเปลี่ยนแปลง" ต้นไม้ไม่ดีก็ตัดทิ้งเสีย คงไว้แต่ต้นไม้ดีในชีวิต ก็จะเกิดผลดีได้ต่อไป ในช่วงนั้น ผมประทับใจที่ผู้ใหญ่ในสังคม ได้ออกมาชวนให้ประชาชนตั้งสติ ร่วมกันแก้ไขปัญหา ท่าน อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน **ได้กล่าวถึงการรณรงค์เรื่อง Transparency (ความโปร่งใส), Accountability (ความรับผิดชอบ), การเลี่ยง Conflict of Interest (ความขัดแย้งของผลประโยชน์) รวมๆกันเรื่องว่า Good Governance (ธรรมาภิบาล) พี่ธีรยุทธ บุญมี ได้เรียกร้องให้คนไทย ลงทุนสังคมมากขึ้น คือทุนแห่งธรรมาภิบาล** ผมว่าเป็นบทเรียนที่ถูกต้องจริงๆครับ

บางคนอาจพยายามกล่าวว่า "มันตกลงไป มันก็ย่อมเด้งขึ้นมา เป็นธรรมดา" ผมเชื่อว่า คนไทยน่าจะได้บทเรียนที่ดีกว่านั้น ดังตัวอย่าง "เด็กเกเร" ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ยังไม่ขยันเรียน ยังคิดแต่จะโกงสอบ ก็คงถลำลึก และตกต่ำลงเรื่อยๆ จนกว่าจะเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขในยุคนั้น คนเริ่มเบี่ยงเบนจากความถูกต้องชอบธรรม "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่กลัว" ฯลฯ หลายคนเปลี่ยนจากการสักการะพระบรมรูปทรงม้า ไปวงเวียนใหญ่ เพราะเริ่มชอบ "ชักดาบ" (ฮา)แต่สังคมก็ได้เรียนรู้ อดทนที่จะรณรงค์ความดี

ผมขอเอ่ยถึงคณะทำงานสุดยอด ทั้งท่านคุณ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คุณ ศุภชัย พานิชภักดิ์ และคณะของท่าน ผมอยากส่งเสียงขอบคุณดังๆว่า เป็นการกู้วิกฤตของประเทศได้อย่างแท้จริงในยุคนั้น** มีความพยายามสร้างกระแส ให้ช่วยลูกหนี้ ประมาณว่าเจอวิกฤตแล้ว หนี้ใครมี 1 ล้านบาท ก็น่าจะให้จ่าย 500,000 บาทก็พอ แต่หลักการที่ถูกต้อง คือ เจ้าหนี้ควรรักษาวินัย หากลูกหนี้สัตย์ซื่อ ต้องชำระเต็ม ลูกหนี้ "ชักดาบ" จ่ายแบบ "ลดกระหน่ำ" **ใครจะสัตย์ซื่อต่อไป ใครจะเชื่อถือกันอีก แล้วถ้าไม่มีการปล่อยกู้ ปล่อยเครดิต เศรษฐกิจจะถดถอยไปเพียงใดแต่คณะทำงานชุดนั้น ได้ผลักดัน **พ.ร.บ. ล้มละลาย จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้คนมีวินัยมากขึ้น คนที่สัตย์ซื่อ ก็คืนหนี้ครบ แล้วก็ได้รับความเชื่อถือสูง หลังวิกฤตแล้วจะแข็งแรงขึ้นมากมาย** คนที่ไม่สามารถจ่ายครบ ก็ต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของ ไม่มีใครยินดีที่ต้องเห็นเช่นนั้น แต่กติกาเพื่อรักษาความสัตย์ซื่อของทุกคน ยังสำคัญยิ่งเพื่อจะรักษาความถูกต้องชอบธรรม และการค้าระบบเครดิตได้ต่อไป

ตอนนั้น มีหลายคนบอกว่า การขายหนี้เน่าเหล่านั้น น่าจะเปิดให้คนไทยที่เป็นลูกหนี้มาซื้อกันเองที่ราคามีส่วนลด หากเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็น "รางวัล" ของการชักดาบหรือไม่ คนดีสัตย์ซื่ออดทนเข้มแข็งจะท้อแท้หรือไม่

ในช่วงนั้น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังดูจะแก้ไขปัญหาได้น้อยกว่าเรา คนเบี้ยวหนี้ระบาดมากมาย เอ็นพีแอลวิ่งไปสูงถึง 90% ในบางธนาคาร เราลองคิดดูสิครับว่า หากไม่เปลี่ยนแปลง มันจะฟื้นตัวได้อย่างไร

มีผู้กล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่า ปรส. ได้สร้างความเสียหายจากการขายสินทรัพย์มหาศาล สินทรัพย์ของสถาบันการเงินประมาณ 700,000 ล้านบาท ขายได้เพียงประมาณ 200,000 ล้านบาท แล้วใส่ร้ายว่า ปรส.ได้สร้างความเสียหายนับ 500,000 ล้านบาท ผมว่าเป็นการใส่ร้ายที่ไร้สาระและไร้เหตุผล เราต้องดูว่า ต้นไม้ดีให้ผลดี ต้นไม้เลวให้ผลเลว มูลค่าที่หายไป เพราะความบาปของหนี้ "ชักดาบ" เท่าไร หนี้สถาบันการเงินเหล่านั้น ก็ไม่น้อยที่ไม่มีหลักประกัน หนี้ปลอมของอดีตผู้มีอิทธิพลก่อนวิกฤตต่างๆ ตอนนั้น คนยัง "ชักดาบ" กันมาก พ.ร.บ. ล้มละลายยังไม่ออก มูลค่ามันจึงตกต่ำกว่าครึ่งตั้งแต่ก่อนการประมูลอยู่แล้ว

เหมือนดัง วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ มีผู้ใหญ่บอกผมว่า ตอนนี้ มีบ้านงามๆริมทะเลนอกเมืองชิคาโก พื้นที่ใหญ่กว่า 2 เอเคอร์ 7 ห้องนอน จากเดิมมูลค่า 3.5 ล้านเหรียญ กำลังพยายามขายหาคนซื้อที่ประมาณ 1 ล้านเหรียญ มูลค่าคงเหลือก็ประมาณนั้น ใครไปประมูลขายก็คงไม่ได้ต่างกันสักเท่าใด "ต้นไม้เลวได้ผลเลว" มันตกลงมา เพราะไปซื้อในจังจังหวะดูสดใสมาก ด้วยความโลภ มูลค่ามันก็หายไปได้ 60-70% เช่นนั้น ใครกล้าซื้อก็ได้ของถูก หากโชคดีก็ได้กำไรงาม แต่หากไม่ได้เป็นอย่างใจ ก็ขาดทุนได้

บทเรียนแฮมเบอร์เกอร์ มาถึงขณะนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า หลักการวัความเสี่ยงทางการเงิน การคุมความเสี่ยงทางการเงินจะมีปัญหา ยิ่งตอกย้ำว่า ได้ยึดหลักการตามตำราอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ? นอกจากนั้น ก็คือความโลภ การแข่งขันการเกินขอบเขต เกินความพอดี ขาดเหตุผล ขาดภูมิคุ้มกัน และน่าจะขาดความคุณธรรมและความรอบรู้ ก็น่าจะทำให้เราระลึกถึงหลักการ** "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องธรรมดา" ที่จะช่วยให้ไม่เกิดปัญหานี้อีก และจะช่วยให้โลกค่อยๆฟื้นผ่านวิกฤต**ไปได้ในที่สุดครับ

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น