xs
xsm
sm
md
lg

" ความหวัง " ท่ามกลาง " วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ "

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตศรัทธาในประเทศ ผมนึกถึงเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งครับ

เด็กน้อยคนหนึ่ง เปิดเข้าไปในห้องๆหนึ่ง เขาเดินเข้าไปด้วยความหวาดหวั่น เพราะ ห้องนั้นมืดมิด แต่เขาเริ่มใจชื้นเมื่อได้เห็น แสงสว่างรำไร เขาเดินเข้าไปสู่แสงสว่างนั้น ท่ามกลางความมืดทมึน พายุโหมกระหน่ำ ยังคงเหลือเทียนอีก 4 เล่มที่ยังเปล่งประกายอยู่ แต่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เปลวเทียนก็เริ่มวูบวาบอ่อนแรง
เทียนเล่มแรกบอกว่า "หนูเอ๋ย เราคือเทียนแห่งความดี ตราบเท่าที่ยังมีความดี ก็จะเห็นความสว่าง" แต่แล้ว พายุร้ายก็โถมเข้ามาอีกจนเทียนแห่งความดีดับไป เทียนเล่มที่ 2 บอกว่า "หนูเอ๋ย เราคือเทียนแห่งความรัก ตราบเท่าที่สังคมยังรักกันได้ สังคมก็ยังมีความสุข"
แต่แล้วพายุร้ายก็โหมเข้ามาอีก จนทำให้เทียนความรักก็ดับมืดไป เทียนเล่มที่ 3 บอกว่า "หนูเอ๋ย เราคือเทียนแห่งสันติ ตราบเท่าที่สังคมยังยึดมั่นในสันติ สังคมก็ยังสงบ" แต่แล้วพายุร้ายก็ถล่มความสันติอีก จนเทียนเล่มที่ 3 ก็ดับไป

หนูน้อยกลัวมาก ที่ความมืดครอบงำจนไฟแห่งความดี ความรัก และสันติก็หายไป คงเหลือเพียงเทียนเล่มสุดท้าย

แล้วเทียนเล่มสุดท้ายก็บอกกับเด็กน้อยนั้นว่า “หนูเอ๋ย อย่ากลัวเลย เราคือเทียนแห่งความหวัง แม้เทียนเล่มอื่นๆจะดับไป แต่ไฟแห่งความหวังยังไม่ดับสูญ หนูสามารถเอาเทียนแห่งความหวังมาจุดเทียนเล่มอื่นๆ ทั้งความดี ความรัก และสันติกลับมาได้

ในทุกวิกฤต ทุกสถานการณ์ ขอให้เรารักษาความหวัง เราจะสามารถนำความดีงาม ความชอบธรรม จริยธรรม ความรักสามัคคี และความสงบสันติสุขในบ้านเมืองกลับมาสู่แผ่นดินไทยและแผ่นดินโลกได้ในที่สุด

สถานการณ์ขณะนี้ วิกฤตการเงินโลกกำลังเป็นปัจจัยนำของทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลก จนปัจจัยในประเทศกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ด้วยตลาดหุ้นได้คำนึงถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองมาโดยตลอดอยู่แล้ว ในส่วนของวิกฤตการเงินโลก ผมเชื่อว่า การศึกษาบทเรียนในยามนี้ ก็จะช่วยให้เราสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต โดยผมได้บทเรียนที่คิดว่าน่าสนใจหลายประการดังนี้ครับ

1. **การแข่งขัน (Liberalization) "เกินตัว" และ การลดหย่อนการกำกับดูแล (Deregulation) "เกินไป"** ในกิจการด้านตลาดเงินตลาดทุน ได้สร้างผลเสียหายกระทบเป็นวงกว้าง หากเป็นธุรกิจขายสินค้าทั่วไป ผลกระทบต่อแต่ละราย ก็จะไม่เกิดผลกระทบกว้างไกลออกไป แต่สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจกว้าง เพราะไปเกี่ยวข้องกับกิจการจำนวนมาก จึงอาจมีผลกระทบต่อเนื่องได้

2. ผลของความบาปและความโลภ ทำให้ขายสินทรัพย์ได้ราคาต่ำ ไม่ใช่กระบวนการขายนั้นผิด ตามข่าวของโดมิโน เลห์แมน บราเธอรส์ ถูกกระทบ เนื่องจาก เมอร์ริลลินช์ ได้ขายสินทรัพย์ที่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบ fire sales ได้เพียง 22% ทำให้คาดว่าหลายๆสถาบันก็อาจจะต้องขายขาดทุนได้คล้ายๆกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่รุนแรง ดังที่ทุกคนกำลังตำหนิการกระทำที่ผิด และหาบทเรียนสำหรับอนาคต จะเห็นว่ามีข้อสรุปตรงกันว่า **เป็นเรื่องของการใช้เงินเกินตัว เก็งกำไรเกินตัว กู้เงินเกินตัว** ซึ่งประเทศไทยได้บทเรียนมาแล้วสรุปได้ตามหลักการพระราชทานคือ **"เศรษฐกิจพอเพียง"** ผมยังไม่มีใครใส่ร้ายว่า ผู้จัดประมูลขาย ทำให้ได้เพียง 22% นั้นกระทำอะไรผิดเลย ก็สินทรัพย์มันเน่ามาก่อน จะขายให้ได้สูงกว่านั้นก็ไม่ง่าย และถ้าใครจะเสี่ยงแล้วโชคดี สถานการณ์แก้ไขเรียบร้อย แล้วอาจกำไรเท่าตัว ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนประเภท "เสี่ยงมาก และอาจได้กำไรมาก" ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ขายอยู่ดี

และก็จะเห็นว่า ไม่มีการเรียกร้องให้ขายหนี้ NPL (ซึ่งลูกหนี้ชักดาบ) ให้กับลูกหนี้เองในราคาที่มีส่วนลด เพราะหากเป็นเช่นนั้น คนกู้สถาบันการเงินทุกคนอาจถือเป็นรางวัลแห่งการชักดาบ แล้วใครจะสัตย์ซื่อต่อเจ้าหนี้ที่เราไปกู้มา และอนาคตใครจะปล่อยกู้และวางใจกันอีก

มองดูละคร แล้วย้อนดูตัวเรา จะได้เข้าใจกันกระจ่าง หากยังมีผู้ใส่ร้ายว่า ปรส. เป็นผู้ทำประเทศเสียหายอีก ผมขอให้ตั้งสติแล้วมองภาพเวลานี้ อารมณ์ขณะนี้ ที่อเมริกา ก็จะเข้าใจว่า

... ไม่เห็นมีใครตำหนิการประมูลขายให้ได้ราคานั้นเลย เพราะของมันไม่ใช่ค่า 100% อยู่แล้ว

... เป็นเพราะสินเชื่อมันเน่าใช่ไหม จึงขายกันได้เพียง 22%

... เพราะต้องรักษาวินัยใช่ไหม ที่ไม่ขายให้ลูกหนี้ชักดาบในราคาลดกระหน่ำ

เราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมา ในช่วงปี 1997 ก็เพราะภาพนี้ ที่สังคมมีแต่การคดโกง โลภ ไม่สัตย์ซื่อต่อกันทุกระดับ เรารอดจากผลกระทบโดยตรงจากโดมิโนของสถาบันการเงินโลกอย่างอัศจรรย์ ก็ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่าลืมบทเรียนแสนแพงไปง่ายๆ **เราคนไทยทุกคนร่วมใจกันรณรงค์ให้ทุกคนดำรงอาชีพด้วยความเก่ง และความดี** กลับมาถือ**ตามพระราชดำรัสที่ว่า "ความสัตย์ซื่อนั้นเป็นเรื่องธรรมดา" อย่าไปเชื่อว่า "การโกงกันเป็นเรื่องธรรมดา" และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะทำให้ชีวิตมั่นคง และมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน** จึงขอขอบคุณงามๆสำหรับทีมกู้วิกฤต ทั้งคุณ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คุณ ศุภชัย พานิชภักดิ์ คุณ อมเรศ ศิลาอ่อน ปรส. ที่ได้แก้ปัญหาอย่างสัตย์ซื่อ ถูกทิศทางและทันการณ์จนประเทศฟื้นขึ้นจากหุบเหวแห่งวิกฤตได้สำเร็จ

ในวันนี้ โลกกำลังป่วย การส่งออกอาจต้องตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก การท่องเที่ยวอาจตกลงเพราะชาวต่างประเทศหมดอารมณ์ ฝืดเคือง การบริโภคในประเทศอาจตกลงหากประชาชนหดหู่ ขาดศรัทธาและความเชื่อมั่น การลงทุนก็ยังลำบากในบรรยากาศของเศรษฐกิจถดถอย เรามีกำลังได้ เพราะรัฐบาลขิงแก่ได้รักษาวินัยทางการเงิน ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ล้างหนี้กองทุนน้ำมัน ลดหนี้ตั๋วเงินคลังทำให้รัฐบาลมีกำลังพอที่จะนำมาใช้ในช่วงซบเซาทำนองนี้ จึงน่าจะขอบคุณรัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเช่นกัน

ในวิกฤตเศรษฐกิจของโลกเช่นนี้ ตราบเท่าที่คนไทยเรายังรักษาความหวัง กำลังใจ และดำเนินการใดๆโดยหลัก**เศรษฐกิจพอเพียง คือ กระทำการใดๆด้วยความพอดี ใช้เหตุผล และมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหา** โดยประกอบด้วยหลักคุณธรรม และความรอบคอบรอบรู้ เป็นรากฐาน เราก็จะผ่านวิกฤตของโลกนี้ไปด้วยกันอย่างสง่างามครับ

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น