xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยอมคิดนอกกรอบเงินเฟ้อ เรียกนักวิชาการ-เอกชนร่วมถกนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนวังบางขุนพรมลดทิฐิ รับฟังความคิดนักวิชาการและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วยการนัดหารือนอกรอบถกเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่ มั่นใจ กนง.ได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.ก่อนเสนอคลัง “สมภพ” ชี้ในที่ประชุมส่วนใหญ่มองว่าควรใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายแทน เหตุสะท้อนวิถีความเป็นอยู่ประชากรได้ดี พร้อมต้านพฤติกรรม รมว.คลังปั่นข่าวลดค่าเงินเปิดช่องเก็งบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) เวลา 9.00-12.00 น. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการระดมความคิดจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ภาคเอกชนที่มีสถาบันการเงินร่วมด้วย ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจประมาณ 28 คน เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ ซึ่งในพ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินการดังกล่าวดังกล่าวของปีถัดไปในทุกเดือนธันวาคมของทุกปี

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกรรมการจากบอร์ด กนง. กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการสรุปทางเลือก 3 แนวทาง คือ 1.ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแบบเก่าที่อยู่ในช่วง 0-3.5% เฉลี่ยเป็นรายไตรมาส 2.ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ3.ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาน้ำมัน แต่รวมราคาอาหาร ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างก็เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไปในแต่ละแนวทาง แต่ในส่วนตัวมองว่าการใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเหมาะสมกว่า เพราะสะท้อนค่าครองชีพได้ดี

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเหล่านี้ทางบอร์ด กนง.จะนำมาสรุปเป็นกรอบเป้าหมายและเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณาในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติกรอบเป้าหมายนี้ในเดือนธันวาคมนี้ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วกรอบเป้าหมายที่กนง.เสนอไปแล้วคลังไม่เห็นด้วยก็ต้องหารือกันใหม่ เพราะต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างธปท.และคลังตามที่กฎหมายฉบับใหม่ระบุไว้ และไม่มีความเป็นห่วงว่าจะมีการด้านการเมืองเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผลที่เหมาะสม

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพูดคุยในครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเบื้องต้น โดยที่ประชุมต่างมีความเห็นแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มองว่าควรหันมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปดีกว่า เพราะสามารถสะท้อนความเป็นจริงจากวิถีความอยู่ของคนไทยได้มาก เนื่องจากหมวดอาหารมีสัดส่วนคิดเป็น 40%ของตะกร้าเงินเฟ้อ ขณะที่หมวดพลังงานมีสัดส่วน 9-10%ของตะกร้าเงินเฟ้อเช่นกัน และมองว่าในอนาคตการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดน้ำมันอาจลดลง

“ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีระดับที่ปรับเข้าหากันมากขึ้น จากในปี 2543 มีระดับที่ห่างกันมาก เพราะความไม่สมดุลโลก จากการเปิดเสรีภาคการเงิน จึงควรปรับตามสถานการณ์ที่แท้จริง โดยส่วนใหญ่มีการเสนอมีการปรับเป็นรายปี หรือรายไตรมาสเหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็อาจไม่ต้องมีการปรับทุกปีหรือทุกไตรมาส ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในส่วนตัวมองว่าควรหันมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปดีกว่า เพราะตอนนี้ในทั่วโลกมีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่มีการใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน”

สำหรับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดจะให้ธปท.เข้าไปแทรกแซงเงินาทให้อ่อนค่าลงอีก 5% เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกในปีหน้าที่คาดว่าจะมีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นายสมภพกล่าวว่า ในความเป็นจริงสิ่งที่ ธปท.ดำเนินการในปัจจุบันก็มีหลากหลายช่องทางและมีระดับค่าเงินที่เป็นเป้าหมายในการดูแลค่าเงินบาทอยู่ในใจอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการประกาศ เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรได้ง่าย และในปัจจุบันการที่ ธปท.ดูแลให้ค่าเงินเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินของประเทศในแถบภูมิภาคก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

“ภายใต้การดูแลโลกการเงินที่ยาก ซึ่งในขณะนี้นักลงทุนต่างชาติก็พยายามจะนำเงินดอลลาร์ในทุกมุมโลกกลับไปยังประเทศสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือกิจกาจ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องกำหนดให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก ซึ่งถ้าค่าเงินอ่อนมากเกินไปอาจจะสร้างปัญหาต่างๆ ตามมาให้แก่ภาคเอกชนในด้านการนำเข้า-ส่งออก การผลิต การบริหารจัดการ และการปรับค่าจ้าง จึงไม่ควรเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก และควรปล่อยให้เป็นของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ดูแลดีกว่า”
กำลังโหลดความคิดเห็น