xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวเพิ่มวงเงิน RMF-LTF รัฐยอมสูญรายได้ 900 ล้าน/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.สมชายใจใหญ่ ยอมหั่นรายได้รัฐ 900 ล้านบาท/ปี เพื่อปั๊มเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้น ล่าสุดไฟเขียวขยายวงเงินหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาวจาก 5แสน เป็น 7 แสนบาท นายกฯสมาคมชี้ช่วยเพิ่มเม็ดเงินใหม่ แต่หลายเสียงตำหนิเอื้อคนรวย แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธ์ศาสตร์การจัดเก็บภาษีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วานนี้ (14ต.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยการขยายวงเงินหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ให้หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 7 แสนบาทต่อปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ได้มีมติขยายวงเงินการหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้หักได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ให้หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 7 แสนบาทต่อปี โดยการขยายวงเงินการยกเว้นภาษีข้างต้นเห็นสมควรว่าควรกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวโดยมีผลสำหรับหน่วยลงทุนที่ได้มีการซื้อระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2551 ถึง 31 ธ.ค. 2551

"การขยายวงเงิน RMF และLTF จะช่วยส่งเสริมให้ผู้มีรายได้ประจำนำเงินออมไปลงทุนในกองทุนทั้ง 2 มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯขยายตัวตามมา ส่วนผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรนั้นยอมรับว่ารัฐบาลได้รับผลกระทบต่อรายได้ แต่ไม่มากนัก" นายสาธิต กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าว่าการเพิ่มวงเงินหรือการหักลดหย่อนภาษี RMF และ LTF รัฐจะได้รับผลกระทบต่อรายได้ถึง 900 ล้านบาทต่อปี

**สมาคมบลจ.ชี้ช่วยกระตุ้นนักลงทุน**

ด้าน นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (สมาคม บลจ.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวถึงมติครม.ที่ออกมาว่า เรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นนักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากว่าปัจจุบันราคาหุ้นมีราคาที่ถูกลง และตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำการประเมินและคาดการณ์ว่าในช่วงปลายปีนี้จะมีเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านบาท ส่วนการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนหรือแมทชิ่งฟันด์นั้น ในความเห็นส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ น่าจะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น

**โดนติช่วยกระตุ้นแต่คนรวย**

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายว่า การขยายวงเงินดังกล่าว สามารถช่วยผู้ลงทุนได้เพียงระดับหนึ่ง หรือคนเพียงกลุ่มเล็กที่มีฐานรายได้สูงเท่านั้น และไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนจากกลุ่มคนได้หมด เพราะจากวงเงินดังกล่าว คนที่จะลงทุนได้จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 3,300,000 บาทต่อปี ซึ่งก็คือ 15%ของรายได้ โดยนักลงทุนที่มีรายถึงระดับ 3,300,000 บาทต่อปี นั้นมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นจึงมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นว่าควรที่จะมีการปรับเพดานการลงทุนแทนการเพิ่มวงเงิน

"หากเป็นการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี จาก 500,000 บาท เป็น 700,000 บาท จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ 600,000 บาท สามารถที่จะลงทุนในกองทุนรวม LTFหรือRMF ได้ 90,000 บาทเท่านั้น และหากมองดูให้ดีแล้วจะพบว่าไม่ได้เป็นการออมเงินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด"แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง ให้ความเห็น

**วอนขยายเพดานวงเงินลงทุน**

ส่วนเรื่องการเพิ่มเพดานการลงทุนโดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 15%ของรายได้มาเป็น 30% ของรายได้แทนนั้น แหล่งข่าวเชื่อว่าเรื่องนี้จะสามารถเพิ่มฐานการลงทุนได้มากกว่าการปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี เพราะหากมีการปรับเพิ่มเพดานการลงทุนเป็น 20% จะสามารถระดมเม็ดเงินจากนักลงทุนได้ ทั้งในระดับกลางถึงระดับล่างให้เข้ามาร่วมลงทุนได้มากขึ้น

"การเพิ่มวงเงินลงทุนของกองทุน LTFและRMF จะทำให้กองทุนทั้ง 2 โตขึ้นจากเดิมที่มีอัตราการเติบโตประมาณ 30% เพราะเมื่อมาเปรียบเทียบกับรายได้ของนักลงทุนไทยจะพบว่า คนที่เสียภาษีมีไม่เกิน 10% คือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาท ขณะที่ คนที่มีราย 500,000-1,000,000 บาท จะต้องเสียภาษี 20% ซึ่งหากมีการอนุมัติเรื่องการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีและการปรับเพิ่มเพดานการลงทุนจะทำให้มีการออมเพิ่มขึ้น 10-20% ต่อปี"

ที่ผ่านมา เรื่องดังกล่าวได้รับการผลักดันทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่ง เพราะเชื่อมั่นว่าหากเรื่องดัวกล่าวได้รับการอนุมัติจะยิ่งเสริมศักภาพของราคาหุ้นในตลาดให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเม็ดเงินเหล่านี้เป็นเงินลงทุนระยะยาวที่มีกฏหมายบังคับ ซึ่งการขยายวงเงินลดหย่อนภาษีในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2551 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2550 ครม.ในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้นำเสนอ

โดยการลงทุนในกองทุน LTF และกองทุน RMF เป็นการลงทุนระยะยาว อีกทั้งยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ จึงทำให้หลายบลจ.มองว่าการลงทุนในช่วงนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กลับนักลงทุนได้ เนื่องมาจากช่วงนี้ราคาหุ้นได้มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าไปเก็บหุ้นพื้นฐานดี เพื่อรอเวลาในการสร้างผลตอบแทนที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น