วันก่อน ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้นักลงทุนในภูมิภาคที่มาเยี่ยมงาน Thailand Focus ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ซีแอลเอสเอ เป็นช่วงของการแนะนำบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นช่วงหลังจากการประกาศวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ถึงบทวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส พอดี
ผมเห็นนักลงทุนหลายคนแทบหมดอารมณ์เพราะสถานการณ์ยังสับสนอยู่มาก ผมจึงบอกเขาว่า ผมมีข่าวที่เราภาคภูมิใจจะแจ้งให้ทราบ
"ปีนี้กิมเอ็งเรา แม้ดูจะเป็นสถาบันการเงินโบรกเกอร์วาณิชธนกิจแห่งหนึ่งของไทย เช่นเดียวกับสถาบันการเงินไทยทุกแห่ง เราจะทำกำไรมากกว่าเลห์แมนบราเธอร์สได้มากๆอย่างแน่นอน" (ฮา)
ผมได้รับทราบว่าขนาดความเสี่ยง และขนาดความเสียหายของ เลห์แมนบราเธอร์สเป็นระดับที่น่าตกใจ **สินทรัพย์รวมสิ้นปี 2007 สูงถึง 691,063 ล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 23 ล้านล้านบาท) เทียบกับทรัพย์สินของประมาณ 470 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวมทั้งตลาดฯ อยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท ก็ถือว่าสูงเป็นถึง 1.77 เท่า !! มีหนี้ต่อทุนสูงถึง 30.7 เท่า !!**
ปีที่แล้วรายงานกำไรสูงถึง 4.2 พันล้านเหรียญ สรอ. แต่ประมาณการว่าไตรมาส 3 นี้ ไตรมาสเดียว จะรายงานขาดทุนสูงถึง 3.9 พันล้านเหรียญ สรอ. คือประมาณ 1.31 แสนล้านบาท !! **สิ่งที่นักลงทุนน่าจะตระหนกคือ สินทรัพย์สูงถึง 30.7 เท่า หากมีการเสื่อมค่าเพียง 3.3% ก็จะลบทุนให้หายไปได้อย่างง่ายดาย** นอกจากนั้น กำไรที่เคยรายงานมาก่อนหน้านี้ และขาดทุนในระดับนี้ ดูเหมือนยังมีการนับการน่าจะได้กำไรจากการบริหารความเสี่ยง โดยมีสัญญาที่น่าจะได้รับชดเชยจากองค์กรอื่นที่ได้ประกันความเสี่ยงไว้เช่น การซื้อขายเครดิตที่เรียกกันว่า "Credit Default Swap" ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่า "น่าจะได้" แต่หากมีปัญหาความเสี่ยงของเครดิตของคู่สัญญา ก็อาจเรียกไม่ได้ตามที่คาดก็ได้ และจะเกิดผลกระทบลูกโซ่เป็นโดมิโนได้
ในสภาวะที่โลกกำลังเริ่มวิตกกันมากขึ้นถึงโอกาสที่โลกจะเผชิญวิกฤตการณ์การเงินอันเริ่มจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา หลายๆคนเริ่มพูดคุยกันว่า "พวกอเมริกัน มันมาสอนพวกเรา เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องบริหารความเสี่ยง พวกเขาเองก็มีปัญหา" "ครั้งที่แล้ว มาแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินของเอเชีย ครั้งนี้ก็กลับมาเป็นเสียเอง" ฯลฯ
ผมดีใจที่เราจะหาบทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นห่วงว่า เราจะหาบทเรียนกันอย่างไม่ถูกต้อง คนเราไม่ควรแบ่งแยกข้างใครข้างใคร ไม่ใช่ว่าพอเราเห็นใครมีความผิด แล้วเราจะถือว่าเขาจะมีความผิดในทุกเรื่อง หรือจะเชื่อว่า ถ้าใครพิสูจน์บางเรื่องว่าถูกต้องได้ แปลว่าเขาจะถูกทุกเรื่อง
คนทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนบาป ทุกคนจะมีความผิดความบาปอยู่บ้าง และมีความถูกต้องกันอยู่มากน้อยแตกต่างกันไป จึงไม่ใช่ว่า ถ้ามีอะไรที่ถูกก็จะถูกทุกเรื่อง หรือถ้ามีอะไรผิด ก็จะผิดทุกเรื่อง
เราจึงควรถอนตัวออกจากการจะยึดว่า “ใครอยู่ข้างใคร” แต่กลับมามองเสมอว่า "อะไร คือ หลักที่ถูก อะไรผิด" กับเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยว่า มันต้องมีปัญหาในหลายเรื่องหลายระดับ แต่ผมยังเชื่อว่า หลักการที่เราเรียนจากตำราอเมริกัน เช่น ธรรมาภิบาล หลักการวัดความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยง ฯลฯ ยังเป็นเรื่องที่ดีที่ถูกต้อง แต่เกิดการปฏิบัติผิดต่างหาก และเชื่อว่ารากฐานก็เกิดจากความผิดบาปคือ "อย่าโลภ" เกินตัว
พระคัมภีร์จะมักจะเตือนว่า "ทางแห่งความชอบธรรมเป็นทางแคบ การหลงไปในทางแห่งความบาปเป็นทางกว้าง" กระทั่งดาวิดเป็นคนชอบธรรม แต่เมื่อมีอำนาจสูง กลับโลภภรรยาของทหารในสังกัด เริ่มหลงไปในความบาป สั่งให้ไปออกสนามรบจนตายไป และดาวิดก็ได้ครอบครองภรรยาของทหารนั้นโดยมิชอบ แล้วพระเจ้าก็ลงโทษดาวิดอย่างรุนแรง ซึ่งให้บทเรียนว่า แม้คนเราจะมีความชอบธรรมมาเป็นสิบๆปี แต่ก็ยังอาจทะนงตน และหลงในความบาปได้ในที่สุด หลักการความชอบธรรมต่างหาก จึงจะมีความถูกต้องบริสุทธิ์ถาวร
สถาบันชั้นนำระดับ เลห์แมน บราเธอร์ส ที่ถือกันว่า เป็นวาณิชธนากิจอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะได้ดำรงอยู่ในการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบมีหลักการมายาวนานทีเดียว แต่ท้ายที่สุด ผู้บริหารยุคหลายปีหลังมา ก็มีการหลงในความบาป จนทำให้เกิดความเสียหายที่น่าใจหาย
ผมนึกย้อนไป 3-4 ปี การที่เมืองไทยมีปัญหาวุ่นวายภายใน หันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น มีวินัยทางการเงินมากขึ้น ตัวอย่างการยอมเก็บค่าน้ำมันมากขึ้นเพื่อล้างหนี้กองทุนน้ำมันเกือบแสนล้านบาท ก็เป็นตัวอย่างนโยบายที่จะเสียคะแนนนิยม เพราะดูเหมือนรัฐบาล "ขิงแก่" ไม่ช่วยเหลือราษฎร ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายเอาใจประชาชนก็เป็นเพียงการสะสมภาระหนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องชำระ หรือผู้ใช้น้ำมันยุคต่อมาต้องรับผิดชอบอยู่ดี ตั๋วเงินคลังของประเทศในยุครัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียง ก็ลดลงจาก 2.5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.5 แสนล้านบาท ทำให้เรามีวินัยทางการเงินและความมั่นคงทางการเงินดีขึ้นมาก เป็นความเสียสละอย่างแท้จริงที่มัวแต่ยึดวินัยเพื่อความมั่นคงทางการเงิน แต่หลายคนหลงไปวิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีผลงานถูกใจประชาชน !!
ธนาคารแห่งประเทศไทยคุมการนำเงินเข้าด้วยนโยบาย 30% ได้ผลเป็นอย่างดี (หลังจากแก้ไขในส่วนของตลาดหุ้น) คนในตลาดหุ้นก็คงเคยไม่พอใจวิธีการดำเนินการในวันที่ 19 ธันวาคม 2006 แต่ก็ถือได้ว่า เมื่อรวมกับการควบคุมวินัยของเงินเข้าออกแล้ว ได้เป็นคุณูปการที่ทำให้ชิ้นโดมิโนของประเทศไทย ออกมาวางนอกแถวได้อย่างน่าชื่นชม ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ว่าฯ ธาริษา และทีมงานด้วยหัวใจจริงๆครับ
เพราะผมเห็นว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเอาตราสารดัดแปลงเข้ามาหานักลงทุนไทยซื้อมากมาย และอีกมุมหนึ่ง มีเงินทะลักเข้ามาในภูมิภาคอย่างมาก ทำให้หุ้นแพง ที่ดินแพง ในหลายๆตลาด หลายๆประเทศ เมื่อ 6-8 เดือนที่แล้ว จีนเปิดบัญชีหุ้นใหม่วันละ 3 แสนบัญชี (มากกว่าบัญชีที่ active ของประเทศไทยรวมกัน) คนจีนที่เปิดบัญชีหลังๆ คงได้รับของแพงแถวยอดดอยไปเจ็บตัวกันมากมาย หากไทยเราก็อยู่ในช่วงเร่งเติบโต ปั๊มลูกโป่งเศรษฐกิจกันอีก ป่านนี้เราก็คงได้รู้สึกมั่งคั่ง หลงกู้เงินก่อหนี้ซื้อหุ้นแพง ที่ดินแพง ของต่างประเทศแพงอีกมากมาย และคงจะเจ็บตัวอีกมากมาย** ตลาดเราแม้ก็ตกมาประมาณเกือบ 30% แต่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ลงมาเหลือ 2,000 จุด จากประมาณ 6,000 จุด คือตกมาเหลือเพียง 1 ใน 3 ของจุดสูงสุด ตลาดเวียดนามก็ตกจาก 1,200 จุด มาเหลือประมาณ 400 จุดเช่นกัน**
เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้แปลว่า ไม่ค้าขาย ไม่ขยายงาน แต่ต้องกระทำด้วยความพอดี ใช้เหตุผล และมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหา โดยประกอบด้วยหลักคุณธรรม และความรอบคอบรอบรู้ เป็นรากฐานในการดำเนินการใดๆที่คนไทยน่าจะร่วมกันภาคภูมิใจและยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกันอย่างแท้จริง
มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)