xs
xsm
sm
md
lg

ผวา 29 ก.ย.หุ้นทั่วโลกดิ่งเหว-ลุ้นระทึก "เดโมแครต-รีพับลิกัน" จับเข่าสรุปแผนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักลงทุนทั่วโลกจับตา "เดโมแครต-รีพับลิกัน" หันหน้าเข้าหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงแผนกู้วิกฤต 7.8 แสนล้านดอลลาร์ ก่อนวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก่อนตลาดหุ้นเปิดทำการ หวั่นลุกลามเป็นชนวนฆาตกรรมหมู่ในตลาดหุ้น ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลก ส่งสัญญาณภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล แต่กลับเงียบหายไปในระบบ คาดธนาคารพาณิชย์ แห่กักตุนเงินสด-ลดการปล่อยกู้ลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

วันนี้ ( 28 ก.ย.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (สภาคองเกรส) เตรียมบรรลุข้อตกลงร่วมกันซึ่งอาจนำไปสู่การอนุมัตินโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ภายในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งมีสัญญาณว่าอาจจะมีการแถลงข่าวร่วมกันของเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และคณะผู้นำในสภาคองเกรส ก่อนวันที่ 29 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การจัดทำแผนฟื้นฟูระบบและสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกามูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังตกอยู่ในภาวะชะงักงัน หลังจากมีการนำเสนอแผนดังกล่าวที่เบื้องต้นจัดทำโดยนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลัง และนายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยบรรดาคีย์แมนสำคัญในรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างพากันออกมายืนยันว่าจะพยายามเร่งมือต่อรองเพื่อหาทางทำความตกลงในแผนดังกล่าวให้ได้ ก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นจะเปิดทำการในวันที่ 29 ก.ย.นี้

นายบาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาคองเกรส พรรคเดโมแครต เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. โดยยืนยันว่า แผนการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24 ล้านล้านบาท) ที่มีการหารืออย่างเคร่งเครียด ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะได้ข้อสรุปไปในทิศทางที่ดี ภายในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย.นี้

"ผมมั่นใจว่า ในวันอาทิตย์นี้ พวกเราจะได้ข้อตกลงเรื่องแผนดังกล่าว และเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น" แฟรงค์ กล่าว

ด้านนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรส ได้ชี้แจงว่า การให้ความช่วยเหลือบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้รอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์นั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายฉุกเฉิน และได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟู จะยังดำเนินต่อไป แม้ว่าในการเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างผู้แทนของรัฐบาลและสภาคองเกรส จะไม่มีสมาชิกอาวุโสบางส่วนของพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันร่วมอยู่ด้วยก็ตาม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลก ออกมาเตือนว่า หากแผนดังกล่าวยังตกลงกันไม่ได้ การซื้อขายหุ้นในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก็จะกลายเป็นการฆาตกรรมหมู่แบบกลายๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุว่า ถึงที่สุดแล้ว แทนที่แผนกู้วิกฤตดังกล่าวจะเป็นการเข้าไปซื้อหนี้เสียในระบบการเงินทั้งหมดราว 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทันที อาจถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นแผนหลายขั้นตอน โดยประธานาธิบดีต้องรับรองหรือปรับแก้ได้ นอกจากนั้นยังกำหนดให้รัฐเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการตามสัดส่วนของเงินที่จะเข้าไปซื้อหนี้ของแต่ละสถาบันด้วย ซึ่งเดิมจะไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวนี้เอาไว้

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดการเงินทั่วโลกส่งสัญญาณภาวะเงินฝืดออกมาให้เห็นชัดมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มพากันกักเงินสดเอาไว้ และลดการปล่อยกู้ลง ผลักให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งในตลาดลอนดอนและยุโรป

นอกจากนี้ รายงานสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ เริ่มแสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวอ่อนแอลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ยอมรับว่า แม้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีก ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เห็นได้ชัดว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงทางลบอยู่ในเวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น