xs
xsm
sm
md
lg

อีก6เดือนหุ้นไทยจะกลับมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทุลักทุเลพอสมควร สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา และปัญหาภายในประเทศที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถแก้(รับผิด)อะไรได้เลย

โดยแนวโน้มของตลาดหุ้นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทางบลจ.ทิสโก้ มองว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จะยังคงมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าคาดการณ์ว่าดัชนีน่าจะปรับขึ้นไปได้ ถึงแม้แผนฟื้นฟู 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่สามารถผ่านการลงมติของสภาภายในครั้งเดียว

แต่อย่างไรเสีย สหรัฐจำเป็นที่จะต้องคลอดแผนฟื้นฟูนี้ออกมาให้ได้ ซึ่งอาจจะมีการปรับกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง มิเช่นนั้น วิกฤตสถาบันการเงินอาจจะลุกลามไปกว่านี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง

ทั้งนี้ หากสภายอมรับแผนการฟื้นฟูนี้ เชื่อว่า ดัชนีน่าจะปรับขึ้นได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐในครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องใช้เวลากว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินจำเป็นที่ต้องตัดหนี้เสียและมีการตั้งสำรองครั้งใหญ่ จะต้องมีการเพิ่มทุนและการควบรวมกิจการตามมา ซึ่งข่าวต่างๆเหล่านี้ อาจจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นอยู่เป็นระยะๆ

อย่างไรก็ตาม หากการจัดตั้ง TARP สำเร็จเชื่อว่า สหรัฐจะมีงบประมาณขาดดุลค่อนข้างสูง ซึ่งจะนำไปสู่การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สถาบันการเงินในสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ Negative Credit Cycle การกู้เงินทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนจะทำได้ยาก จะต้องพึ่งพากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของตนเองมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการลดค่าใช้จ่าย การ layoff พนักงาน อัตราการว่างงานจะเพิ่มมากขึ้น การบริโภคและการลงทุนจะลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การหดตัวลงของ GDP ของสหรัฐในปีหน้า

ตลาดหุ้นไทยแนวโน้มยังดี
ถึงแม้บริษัทจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปีหน้า แต่สำหรับตลาดหุ้นโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เราเชื่อว่า ตลาดได้ price in แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงในปีหน้าไว้บ้างแล้ว เราเชื่อว่า สหรัฐจะต้องมีการออกมาตรการต่างๆมาเพิ่มเติมจากแผนกอบกู้ 7 แสนล้านเหรียญ เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการนี้ให้ได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้นในระยะสั้น ถึงแม้แผนกอบกู้ 7 แสนล้านเหรียญจะไม่สามารถทำให้สถาบันการเงินกลับมาอยู่ในสถานะปกติ แต่ก็สามารถหยุดยั้งการล้มครืนแบบเป็นโดมิโนของสถาบันการเงินได้ ซึ่งเรามองว่าหากการล้มแบบโดมิโนไม่เกิดขึ้น การขายแบบตื่นตระหนก (panic sell) อย่างในไตรมาสที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะเกิดแล้วเช่นกัน ในขณะเดียวกัน แรงขายอาจจะยังพอมีอยู่บ้างโดยเฉพาะในช่วงของต้นไตรมาสที่ 4 เหตุเพราะ 1. จะมีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ของสถาบันการเงินในสหรัฐช่วงประมาณเดือนตุลาคม และเราคาดว่าจะได้เห็นตัวเลขขาดทุนเกิดขึ้น 2. การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจจำเป็นต้องขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยง หรือเพื่อนำเงินไปคืนผู้ถือหน่วยลงทุนในกรณีที่มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคต่างๆ 3. การขายหุ้นที่ถือไว้ของสถาบันการเงินที่มีปัญหาเพื่อเสริมสภาพคล่องของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของตลาดหุ้นไทยที่เราเชื่อว่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทย outperform ตลาดหุ้นสหรัฐและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้าได้ก็มีหลายประการเช่นกัน

1. การที่สถาบันการเงินไทยได้รับผลกระทบการวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐน้อยมาก การลงทุนในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.6% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในระบบ โดยการลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศคิดเป็นเพียง 13% ของหุ้นกู้ทั้งหมดในระบบ อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารไทยส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารต่างประเทศที่มีรัฐบาลค้ำประกันนับว่าเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของ counterparty risks ลงได้ในระดับหนึ่ง

2. ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังคงแข็งแกร่ง EPS growth ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2009 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.2% ในขณะที่ dividend yield อยู่สูงถึง 6% (สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดประเทศในแถบเอเชีย) ณ ระดับดัชนีที่ 600 จุด ตลาดหลักทรัพย์ไทย trade ที่ valuation ต่ำมาก ที่ PER ปี 2009 เพียงแค่ 7.1 เท่า ซึ่งเป็น PER ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในแถบเอเซียด้วยกัน

3. เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปี 2009 จะชะลอตัวลง เชื่อว่าธนาคารกลางของหลายๆประเทศจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของตน** ดังนั้นนโยบายอัตราดอกเบี้ยในไทยจึงไม่น่าที่จะปรับตัวขึ้น เรามีมุมมองว่า policy rate น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 3.75% ไปอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น

4. downside risk อยู่ในระดับต่ำ นับตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ไทย trade ที่ PER เฉลี่ยที่ประมาณ 11-12 เท่า แม้ในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งต้นกำเนิดของวิกฤตอยู่ที่ประเทศไทย ดัชนีตลาดหุ้นในช่วงย่ำแย่ที่สุด ยัง trade ที่ PER เฉลี่ย 6 เท่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานของทั้งภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ ในขณะนี้ที่มีความแข็งแกร่งและแตกต่างไปจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างสิ้นเชิง ทำให้เราเชื่อว่า ณ ระดับดัชนีตลาดปัจจุบันที่ trade ที่ PER เพียงแค่ 7 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว หากจะมีการกลับไปเทรดที่ระดับ PER เท่าๆกับในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ดัชนีจะมี downside จากระดับปัจจุบันเพียงแค่ประมาณ 50-100 จุด หรืออยู่ที่ระดับดัชนี 500-550 จุดเท่านั้น

ดัชนีแตะ750จุด
ภาพรวมของตลาด เชื่อว่าดัชนีอาจจะมีการอ่อนตัวลงได้บ้างในช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงของการประกาศผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินในสหรัฐ ซึ่งหากดัชนีปรับตัวลดลงมา เราแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐเริ่มทรงตัว (ไม่แย่ลงไปจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้) และไม่ลุกลามไปสู่แถบภูมิภาคอื่นๆ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง

โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยมาก ดังนั้นการที่ดัชนีมา trade กันอยู่ที่ PER ในระดับเดียวกับตอนที่ไทยเกิดวิกฤตสถาบันการเงิน จึงเป็นระดับที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เราเชื่อมั่นว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และ บริษัทจดทะเบียนของไทย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะสามารถ outperform ดัชนีดาวน์โจนส์ และฟื้นตัวได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยที่เรามี SET index target ในระยะกลางอยู่ที่ 750 จุด หรือที่ PER 2009 ที่ 9 เท่า

ทั้งหมดเป็นมุมมองของบลจ.ทิสโก้ สำหรับแนวโน้มการลงทุนภายในประเทศ โดยมีวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแปรสำคัญ ในขณะที่พื้นฐานของตลาดหุ้นบ้านเรานั้นยังคงดีอยู่นั้น เชื่อว่าดัชนีเองน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองที่ทางบลจ.ทิสโก้ไม่ได้พูดถึงในครั้งนี้ คงจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ถึงแม้นักวิเคราะห์จะมองว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นก็ตาม

ทั้งนี้ หากมองถึงเหตุการณ์การ”ฆาตกรรมหมู่”ประชาชนที่มาใช้สิทธิ์ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ตุลาคมด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความวิตกให้แก่นักลงทุนมากขึ้น โดยการใช้กำลังตำรวจเข้าทำร้ายผู้ที่มาชุมนุมอย่างสงบมาตลอด ถือเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การลงทุนในปะเทศเลวร้ายลง และเชื่อว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เหมือนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น