"หม่อมอุ๋ย" ชี้ "ดร.โกร่ง" เหมาะคุมคลัง แนะเร่งใช้งบฯ พร้อมแก้ปัญหาการเมือง พร้อมแสดงความชื่นชมสหรัฐฯ ตั้งกองทุนซื้อหนี้เสียแก้วิกฤตการเงินได้ถูกจุด ไม่ห่วงเงินทุนไหลออก เหตุไทยมีทุนสำรองสูง ด้านผู้ว่าฯ ธปท. หนุนไอเดียสหรัฐฯ ตั้งกองทุนพยุงแบงก์ "เลี๊ยบ" เตรียมไขก๊อก ฝากขุนคลังคนใหม่ต้องมีความรู้ความสามารถ แนะเดินสายสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ
วันนี้ ( 20 ก.ย.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่มีการทาบทาม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร มาดำรง หัวหน้าทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งใช้จ่ายงบประมาณ ที่มีความล่าช้ามาเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งหลังปีนี้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเร่งคลี่คลายปัญหาทางการเมือง หากทุกอย่างจบเร็วอาจทำให้เศรษฐกิจครึ่งหลังเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 หากปัญหายังไม่จบภายในเดือน ต.ค.นี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการท่องเที่ยวของไทยในไตรมาสที่ 4
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เชื่อว่าเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้ จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 4-4.5 เท่านั้น เนื่องจากการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังจะยังพุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อแก้วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ โดยเข้าไปซื้อตราสารหนี้ของสถาบันการเงินที่มีปัญหา ถือเป็นการแก้ไขปัญหาตรงจุด และทำให้วิกฤตสถาบันการเงินจบลงได้ แต่ทั้งนี้ต้องรอเวลาขอการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความกังวลลง และจะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะไม่ฟื้นตัวเร็ว และจะมีผลทำให้การซื้อชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คาดการณ์ว่า ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยเพื่อนำเงินไปซับพอร์ตบริษัทแม่ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากประเทศไทยมีเงินสำรองสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับแนวคิดของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รักษาการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่ายังไม่มีความจำเป็นและประเทศไทยไม่ได้เกิดวิกฤติเหมือนสหรัฐฯ จึงไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน เหมือนกับสหรัฐ รวมทั้ง สภาพคล่องในตลาด ยังมีสูงถึง 700,000 ล้านบาท และตลาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของไทย ก็ยังมีความแข็งแรง แต่ควรปล่อยให้บริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ เข้าไปดำเนินการเอง ก็จะถือเป็นเรื่องที่ดี ที่สามารถซื้อสินทรัพย์ในราคาถูกได้
นอกจากนี้ อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ยังมั่นใจว่ บริษัท AIA ในประเทศไทย ยังเป็นบริษัทประกันที่มีฐานะการเงินดีเนื่องจาก การดำเนินธุรกิจแยกขาดกับบริษัทแม่ จึงไม่จำเป็นต้องนำเงินกลับไปซับพอร์ตให้กับบริษัทแม่ในสหรัฐฯ
**ธปท.หนุนไอเดียสหรัฐฯ ตั้งกองทุนพยุงแบงก์
นางธาริษา วัฒนะเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "เทศมองไทย เศรษฐกิจไทย วิกฤติหรือโอกาส" โดยระบุถึง มาตรการในการแก้ไขปัญหาสถาบันทางการเงินของสหรัฐ ครั้งล่าสุด ตนเองว่าเป็นมาตรการที่ดีในการแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเม็ดเงินที่อัดฉีดที่ผ่านมานั้น เป็นการช่วยเหลือเฉพาะราย หากจัดตั้งเป็นกองทุน น่าจะมีความยั่งยืนกว่าในการแก้ไขปัญหา
ส่วนการจัดตั้งกองทุนนั้นจะต้องผ่าน IMF หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาแต่ละประเทศ แต่ IMF คงจะดูแลเสถียรภาพทางการเงินของโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทยนั้นคงจะไม่มีความน่ากังวล เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ของไทย ไม่ได้มีการลงทุนในธนาคาร หรือ สถาบันการเงินของสหรัฐมากหนัก คาดว่าคงจะมีผลกระทบน้อย
โดยในวันนี้ มีการประชุมฯ ผู้ว่าธนาคารกลางในประเทศอาเซียน 20 ประเทศ คงจะมีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ
** "เลี๊ยบ" โบกมือลา-ฝากงานขุนคลังใหม่
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นนักบริหารที่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมก็น่าจะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวได้ แต่จะมีปัญญาในส่วนที่ว่า คงไม่มีผู้ใดที่จะอยากทิ้งหน้าที่การงานเข้ามารับตำแหน่ง ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้น เห็นว่าสิ่งที่สำคัญหลักๆ ในขณะนี้ คือจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ประชาชน นักลงทุนไทยและต่างประเทศ ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด อีกทั้งรัฐบาลจะต้องเดินหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปี 51 และงบประมาณประจำปี 52 ให้ได้โดยเร็ว อย่างน้อยก็เพื่อให้เครื่องยนต์ทางภาครัฐฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด