xs
xsm
sm
md
lg

"เมตตา" เป่านกหวีดแยกก๊าซ 2 ราคา สั่งโรงบรรจุฯ 400 แห่งติดตั้งมิเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตรียมสั่งโรงบรรจุก๊าซฯ 400 แห่งทั่วประเทศ ติดตั้งมิเตอร์รองรับการประกาศแยกราคา 2 ตลาด เพื่อดูปริมาณการใช้ในครัวเรือน และป้องกันการถ่ายเทไปใช้ในรถยนต์ ชี้ยิ่งล่าช้ายิ่งเสียหาย เพราะรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้ ปตท. ไปแล้ว 3.2 พันล.


วันนี้ ( 5 ก.ย.) นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ในเรื่องการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ออกเป็น 2 ราคานั้น ในขณะนี้ต้องรอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัดสินใจว่าจะปรับราคาเมื่อใด ซึ่งยิ่งล่าช้าก็ยอมรับว่าน่าเป็นห่วงเพราะยอดใช้ก๊าซฯ สำหรับรถยนต์ยังเพิ่มขึ้น และประเทศไทย โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องนำเข้ามาขายให้ก่อน โดยยอดส่วนต่างราคาที่ภาครัฐต้องนำเงินไปจ่ายให้ ปตท.มีสูงถึง 3,200 ล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้เสนอ 1 ในมาตรการที่จะดูแลความปลอดภัยป้องกันการถ่ายเท หลังจากกำหนด 2 ราคา คือ ให้โรงบรรจุก๊าซทั่วประเทศจำนวนกว่า 400 แห่ง ติดตั้งมิเตอร์ เพื่อจะได้ทราบชัดเจนว่าปริมาณก๊าซที่นำไปบรรจุถังใช้เพื่อครัวเรือนมาปริมาณเท่าใด ป้องกันการถ่ายเทไปใช้ในรถยนต์

นายเมตตา กล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้ติดตามผลการปฏิบัติ การประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2550 โดยกำหนดให้มีการติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมัน (Vapor Recovery Unit) หรือ VRU ที่คลังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเขตพื้นที่ที่มีคลังน้ำมันอีก 7 จังหวัด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2552 เป็นต้นไปนั้น พบปัญหาว่าในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่ให้รถขนส่งน้ำมันใหม่ ต้องเป็นระบบเติมน้ำมันใต้ถัง (Bottom loading) ทั้งหมด ส่วนรถที่มีอยู่เดิม 3,400 คัน ที่เป็นระบบเติมน้ำมันจากด้านบนถัง (Top Loading) ให้เปลี่ยนเป็นระบบใต้ถังนั้น ต้องลงทุนสูงมาก ประมาณ 300,000–500,000 บาทต่อคัน หรือรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการ

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันไม่ให้หยุดชะงัก รัฐบาลจึงได้ศึกษาวิธีปฏิบัติของประเทศญี่ปุ่น ที่ดัดแปลงฝาถังด้านบน สามารถนำไอระเหยน้ำมันส่งยังคลังน้ำมันได้ และสามารถนำรถเข้าไปรับน้ำมันจากคลังน้ำมันได้ โดยใช้ต้นทุนต่ำในการดัดแปลงเพียง 3-5% ของรถใหม่ และ 20-30% ของรถดัดแปลง

“ผลจากการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการลดการแพร่กระจายของไอน้ำมันซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศ และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และยังสามารถนำน้ำมันที่ระเหยไปกลับมาใช้เป็นน้ำมันได้อีก ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดน้ำมัน ช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายเมตตา กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น