xs
xsm
sm
md
lg

“มาบตาพุด” นำร่องระดมนักวิชาการ-ประชาชนร่วมทำแผนลดมลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรินทร์  สินรัตน์  เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง
ระยอง - เทศบาลมาบตาพุดนำร่องระดมนักวิชาการ ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแผน ลด และขจัดมลพิษ

นายสุรินทร์ สินรัตน์ เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด เปิดเผยว่า หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศให้พื้นที่ ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนาทั้งตำบล และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล

รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขตเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่ได้ประกาศกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และดำเนินการตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

ในขณะนี้ นายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้ศึกษาระเบียบเรื่องการจัดทำแผนฯ เรื่องผลกระทบมลพิษต่อประชาชนในท้องถิ่น โดยมีนายกเทศมนตรี เป็นประธาน รองนายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการกองต่างๆ ตัวแทนจากสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง นักวิชาการและตัวแทนผู้ประกอบการ เป็นคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการ 7 คณะประกอบด้วยผู้แทนจาก 31 ชุมชน สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และทีมงานที่ปรึกษาเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมฯ กรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนจากสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในทุกคณะอนุกรรมการ เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ในการลดและขจัดมลพิษเรื่องน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษขยะสารพิษกากอุตสาหกรรม ผังเมือง สุขภาพอนามัย ของประชาชนในท้องถิ่น ฯลฯ รวบรวมรายละเอียดทั้ง 7 คณะอนุกรรมการ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 120 วัน เสนอนายกเทศมนตรี เพื่อรวบรวมกับข้อมูลของคณะกรรมการซึ่งมีนายกเทศมนตรีเป็นประธาน ในการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาจัดทำเป็นแผนระดับจังหวัด

นายสุรินทร์กล่าวว่า หลังจัดตั้งคณะทำงานก็จะลงพื้นที่ทันทีทั้ง 7 คณะ พบปะชุมชนหาข้อมูลแต่ละด้าน และจะนำข้อมูลทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมเพื่อคัดกรองรายละเอียดอีกครั้งก่อนมีการสรุปแผนดังกล่าวเสนอนายกเทศมนตรี ส่วนเรื่องการดูแลค่ามาตรฐานการปล่อยสารเคมีโดยการเผาไหม้ หรือการปล่อยสารระเหยทางปล่องแต่ละโรงงานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นั้นกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ควบคุมดูแลไม่ให้เกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ต้องยอมรับว่าองค์กรท้องถิ่นไม่ใช่นักวิชาการหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทั้ง 7 คณะเข้ามาร่วมกำหนดแผน ลด และขจัดมลพิษ

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า พื้นที่รับผิดชอบเทศบาลเมืองตาพุด จำนวน 31 ชุมชน จำนวนประชากรรวมทั้งประชากรแฝงมีจำนวนนับแสนคนที่ได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมานาน มากกว่าพื้นที่อื่นๆ
การประชุมประธานชุมชนจาก 31 ชุมชน เพื่อดำเนินการคัดเลือกเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ แก้ไขปัญหา ลดและขจัดมลพิษ
กำลังโหลดความคิดเห็น