xs
xsm
sm
md
lg

คลังสวมหัวใจสิงห์ทุบเป้าเงินเฟ้อเหลือ 6-7% สนอง 6 มาตรการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค.สวมบทหน่วยกล้าตาย ลดเป้าเงินเฟ้อปี 51 เหลือแค่ 6-7% หลังรัฐบาลออก 6 มาตรการ 6 เดือน พร้อมคงตัวเลขคาดการณ์ GDP ยังโต 5.6% “หมอเลี้ยบ” เผย รัฐสรุปแผนเมกะโปรเจกต์ชัดเจน พร้อมนำเสนอนักลงทุน-ทูต ส.ค.นี้ ขณะที่หนี้สาธารณะสูงท่วมหัว 36.1% ของ GDP

วันนี้ (29 ก.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2551 เหลือ 6-7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 7-8% ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีการออก 6 มาตรการมาช่วยดูแลภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทั้งคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 5.6% โดยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 5.9% และแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ 5.0-5.5%

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5.6% ขึ้นกับความมั่นใจในการลงทุน รวมถึงปััญหาการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงราคาน้ำมัน ที่ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่อง

**ลูกกรอกเร่งเมกะโปรเจกต์ ทิ้งทวน ครม.1

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สรุปภาพรวมโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้ง 5 ด้าน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อทูตประเทศต่างๆ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้ได้รับทราบความชัดเจนภายในเดือน ส.ค.นี้

“ท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ สรุปภาพรวมเมกะโปรเจกต์แล้วมาเสนอ โดยจะเชิญทูต นักลงทุน ผู้รับเหมาต่างๆ มารับทราบข้อมูลในเดือนสิงหาคมนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า เรามีมาตรการระยะสั้นและระยะต่อไปที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ขนส่งมวลชนทางอากาศ, ขนส่งระบบราง, ระบบน้ำ, สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งการสรุปโครงการในครั้งนี้จะมีความชัดเจนมากกว่าครั้งก่อน

นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่จะต้องดูแลภาวะเงินเฟ้อให้มีความสมดุลกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) นั้น เชื่อว่า GDP ที่เติบโต 6% ในปีนี้ น่าจะเป็นความสมดุลที่เหมาะสม

**หนี้สาธารณะท่วม 36.1% ของจีดีพี

ด้าน กระทรวงการคลัง เปิดเผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค.2551 โดยมีจำนวน 3,400,158 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,180,814 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 949,611 ล้านบาทหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 91,496 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 157,268 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 20,969 ล้านบาท

สำหรับหนี้สาธารณะดังกล่าว แยกเป็นหนี้ต่างประเทศ 389,971 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.47 และหนี้ในประเทศ 3,010,187 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.53 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,202,148 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.18 และหนี้ระยะสั้น 198,010 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.82 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน เม.ย. 2551 หนี้สาธารณะลดลง 1,245 ล้านบาท โดยหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินและหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 945 ล้านบาท และ 3,092 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงและหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 2,748 ล้านบาท และ 44 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยการลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเกิดจากการลดลงของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยหนี้กองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลงสุทธิ 3,092 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรกองทุนที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำ ประกันจำนวน 2,000 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 945 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนดจำนวน 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 216,432 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 156,891 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 59,541 ล้านบาท แต่มีการชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 100,816 ล้านบาท ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ในประเทศวงเงินรวม 80,657 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั๋วเงินคลัง วงเงิน 16,000 ล้านบาทและพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 49,657 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll Over และ Refinance หนี้เดิมรวม 65,692 ล้านบาท

สำหรับหนี้ต่างประเทศ รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศวงเงินรวม 22,361 ล้านบาท โดยเป็นการ Prepay วงเงิน 2 ล้านบาท Refinance วงเงิน 17,328 ล้านบาท และ Swap วงเงิน 5,031 ล้านบาท สามารถลดภาระดอกเบี้ยรวม 1,589 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจได้ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศวงเงินรวม 9,199 ล้านบาท โดยเป็นการ Prepay วงเงิน 1,699 ล้านบาท ทำให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยรวม 258 ล้านบาท และเป็นการ Roll Over วงเงิน 7,500 ล้านบาท

ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา มีการแปลงเป็นพันธบัตรรัฐบาล วงเงินรวม 16,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 10,787 ล้านบาท โดยทำการ Roll Over วงเงิน 3,000 ล้านบาท และ Refinance วงเงิน 7,787 ล้านบาท ซึ่ง ธอส.ได้ Roll Over หนี้เดิม วงเงิน 3,000 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ Refinance หนี้เดิม วงเงิน 2,987 ล้านบาท และ 4,800 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่การกู้เงินภาครัฐ กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 500 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 2,500 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 3,220 ล้านบาทโดยเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย วงเงิน 1,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) วงเงิน 220 ล้านบาท และธอส.วงเงิน 2,000 ล้านบาท และการชำระหนี้ภาครัฐเดือนมิถุนายน กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้จากงบประมาณรวม 20,763 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 14,872 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 5,891 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น