xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมกระเตื้อง1.3หมื่นล้าน เอฟไอเอฟพระเอก-ECPครบอายุหมดไปแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางวรวรรณ ธาราภูมิ
กองทุนรวมส่งสัญาณฟื้นตัว 3 สัปดาห์แรกของไตรมาสสาม เงินไหลเข้ากว่า 13,510.78 ล้านบาท สูงกว่าเงินลงทุนรวมตลอด 6 เดือนแรก โดยกองทุนเอฟไอเอฟเป็นพระเอกขี่ม้าขาว โกยเงินเพิ่มกว่า 14,805.21 ล้าน ได้ปัจจัยหนุนจาก ECP ทยอยครบอายุหมดไปแล้ว ทำให้กองบอนด์เกาหลีเข้ามาชดเชยและดันพอร์ตกองต่างประเทศโตต่อ ด้านวงการกองทุนชี้ แบงก์ดึงเงินฝากยังเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่จะได้มันนี่มาร์เกตช่วยเบรก หลัง พ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝากมีผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 ไปประมาณ 3 สัปดาห์ บรรยากาศการลงทุนในกองทุนรวมเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง หลังจากช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจกองทุนรวมขยายตัวได้เพียง 0.93% เท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจตัวเลขเงินลงทุนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าเริ่มเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2551 มีเงินลงทุนในกองทุนรวมทั้งสิ้น 1,455,074.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินประมาณ 13,510.78 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,441,563.28 ล้านบาท ณ สิ้นสุดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วง 6 เดือนแรก ที่มีเงินลงทุนเพิ่มเพียง 13,265.18 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ เงินลงทุนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) เป็นหลัก โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 216,621.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 14,805.21 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม ณ วันที่ 27 มิถุนายน ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 201,815.95 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ให้กองทุนรวมเอฟไอเอฟมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือ ECP (Euro Commercial Paper) ซึ่งเปิดขายในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทยอยครบอายุไปหมดแล้ว ทำให้สัดส่วนของกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่บริษัทจัดการกองทุนนิยมเปิดขายออกมาเป็นจำนวนมาก สามารถเข้าไปชดเชยกองทุนที่ครบอายุได้หมด จึงเห็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยหลังจากเชื่อว่ากองทุนเอฟไอเอฟจะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มกองทุนบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยังเปิดขายออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุการลงทุนประมาณ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) แล้ว จะเห็นว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั่นเอง ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก จากการเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งกองทุนทั้ง 2 ประเภทมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะแอลทีเอฟจึงทำให้สัดส่วนการลงทุนของกองทุนทั้งสองประเภทลดลงดังกล่าว

โดยกองทุนแอลทีเอฟมีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 42,765.29 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นเดือนมิถุนายนประมาณ 5,786.95 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 48,552.24 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนอาร์เอ็มเอฟ มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 36,001.68 ล้านบาท ลดลงประมาณ 2,408.30 ล้านบาทจากเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,409.98 ล้านบาท ซึ่งการที่อาร์เอ็มเอฟลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื่องจากมีพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ด้วย

รายงานข่าวกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจกองทุนรวมน่าจะขยายตัวได้มากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยปัจจัยที่สำคัญปัจจัยแรกคือ ไม่มีกองทุนที่ครบกำหนดอายุเป็นจำนวนมากอย่างกองทุน ECP แล้ว ทำให้การเปิดขายกองทุนใหม่ๆ หลังจากนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องเข้ามาชดเชยในส่วนที่หายไปเช่นช่วงครึ่งปีแรก โดยกองทุนที่น่าจะมีออกมาให้เห็นมากขึ้น คงจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยกองทุนในประเทศเองจะเริ่มเห็นกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีก 0.25% และมีแนวโน้มขึ้นอีก 0.25% จากการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนกองทุนต่างประเทศ ก็จะยังเห็นกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้อย่างอย่างต่อเนื่อง แค่คงจะไม่ใช่กองทุนที่ลงทุนเต็ม 100% แล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมา บริษัทจัดการเริ่มปรับกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น นอกเหนือจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้เพียงตราสารเดียว

นอกจากนั้น เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นออกมาด้วยเช่นกัน ถึงแม้ภาวะการลงทุนโดยรวมจะไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก โดยล่าสุดผลผวงจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ส่งผลลามไปถึงสถาบันการเงินในสหรัฐอีกครั้ง แต่ก็เชื่อว่าบรรดาบริษัทจัดการกองทุนเอง จะสรรหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศ เพื่ออกมาเป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอีกประการที่มีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวมคือ การระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสามารถดึงเงินลงทุนจากกองทุนรวมไปได้ค่อนข้างมากพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงที่การลงทุนผันผวนเช่นนี้ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่จะมองหาการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน ซึ่งโอกาสนี้เองทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์เพิ่มผลตอบแทนจูงใจมากขึ้น โดยบางธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 6% เลยทีเดียว

ชูมันนี่มาร์เกตกู้ตลาดกองทุนรวม
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารจากบริษัทจัดการกองทุน ออกมาพูดถึงการแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งปีหลังค่อนข้างมาก โดยนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมกองทุนในปีนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะเติบโตถึง 20% อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ บลจ.วรรณจะขยายตัวอยู่ที่ 10% แต่ในขณะที่ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมยังคงขยับขึ้นเเละขยับลง ทั้งนี้ เป็นสาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ทางเลือกในการฝากเงินมีความสนใจมากขึ้นในเเง่ของอัตราดอกเบี้ย เเต่ชื่อว่าการเปลี่ยนเเปลงของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็คงทำให้นักลงทุนไม่คุ้นเคยกับกองทุนรวม หันมาทำความคุ้นเคยกับกองทุนมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ดีให้กับธุรกิจกองทุน

โดยเชื่อว่าระยะปานกลางเเละระยะยาว การใช้กองทุนรวมในเเง่มุมเพื่อใช้ดูเเลสภาพคล่องจะได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะถือเป็นก้าวเเรกของเงินที่ออกจากสถาบันทางการเงินมาสู่กองทุน โดยเฉพาะกองทุนมันนี่มาร์เก็ตฟันด์ จะเป็นกลุ่มเเรกที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะพฤติกรรมทั่วไปของนักลงทุนมักจะชอบความคล่องตัว ความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ เเละสามารถเบิกถอนได้ทุกวัน จึงน่าจะทำให้กองทุนประเภทนี้ได้รับความสนใจเป็นอันดับเเรก

"ถ้าอัตราดอกเบี้ยในประเทศขยับขึ้นไปบ้าง ก็อาจจะมีกองทุนออกใหม่ที่อิงกับพันธบัตรมากขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาไปอิงกับพันธบัตรต่างประเทศมาก อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องดูสภาพตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยขยับอย่างไรบ้าง ซึ่งในขณะนี้การลงทุนมีโอกาสมากขึ้น ผู้จัดการกองทุนทั้งหลายก็คงต้องไปดูโอกาสของโลก ว่าตอนนี้อยู่ตรงที่ใดเเล้วนำมาเสนอให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ ก็คงมีโอกาสเห็นอะไรใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น"นายสมจิตน์กล่าว

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในธุรกิจกองทุนรวมขณะนี้คือ การทำการตลาด เพราะหลังจากนี้จะทำการตลาดแบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่ต้องสามารถตอบโจทย์การเอาชนะเงินเฟ้อได้ว่าจะทำอย่างเพื่อเป้าหมายในระยะยาว และบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) ที่น่าจะสามารถแข่งขันได้ เพราะยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ซึ่งในอนาคตเอง กองทุนมันนี่มาร์เกตจะเป็นแกนหลักที่สำคัญที่สุดในการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวม เห็นได้จากที่ผ่านมา บริษัทจัดการกองทุนเองเริ่มให้ความสำคัญกับกองทุนประเภทนี้มากขึ้น แต่ก็อยู่ที่จะเข้าถึงผู้ฝากเงินได้มากน้อยแค่ไหน

นางสาวอัจฉรา สุทธิศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บลจ. นครหลวงไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจกองทุนรวมจะกระเตื้องขึ้นจากครึ่งปีแรก ซึ่งการที่บลจ.ส่วนใหญ่เป็นลูกแบงก์ การระดมเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนรวมต้องหยุดชะงักไปเป็นธรรมดา แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไป กองทุนรวมน่าจะสามารถแข่งกับเงินฝากได้พอสมควร

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในครึ่งปีหลังน่าจะโตได้ 20% และน่าจะทำให้ภาพทั้งปีเติบโต 10% จากครึ่งปีแรกเติบโตค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินไหลออกไปอยู่ในระบบเงินฝากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก
นางสาวอัจฉรา สุทธิศิริกุล
นายวนา พูลผล
กำลังโหลดความคิดเห็น