ช่วงนี้ ผมขอถอดหมวกนักธุรกิจ แต่สวมหมวกฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย อดีตนักกิจกรรม นายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ ปี 2527 ด้วยความรักและห่วงใยในบ้านเมืองจริง ๆ ครับ หลายคนเคยรู้สึกว่า เราน่าจะมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างผู้นำสิงคโปร์ ประเทศก็น่าจะก้าวไปได้ไกล และเราเคยมีอดีตผู้นำที่น่าจะเทียบชั้นได้อยู่แล้ว แต่ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจ จึงทำให้เราไม่มีผู้นำเข้มแข็งเช่นนั้น
ผมยังเห็นว่ามีความต่างกันมากครับ เห็นได้ชัด กรณีการซื้อขายหุ้นโดยครอบครัวอดีตผู้นำ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ผู้ซื้อคือกองทุนของรัฐบาล เขาซื้อเพื่อหวังผลตอบแทนให้แก่ส่วนราชการ แต่ของเราฝ่ายขาย ขายโดยครอบครัวของอดีตผู้นำ ซึ่งมีหลักฐานว่า น่าจะเป็นการถือหุ้นแทน หรือ โนมินีอีกด้วย ผู้นำเขา บริหารงานเพื่อบ้านเมืองของเขา แต่ผู้นำเรา บริหารงานเพื่อประโยชน์ส่วนตัว !?!?
**ประชาชนชาวสิงคโปร์มีรายได้มากกว่าคนไทย แต่เขาเสียภาษีสูงสุดเพียงประมาณร้อยละ 20 แต่คนไทยเราต้องเสีย 37% เพราะของเขามีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ของเรา เอาประโยชน์เข้ากระเป๋า แล้วนำไปขายชาติอื่น ทำให้หลายครั้ง ประชาชนขาดความไว้วางใจว่าเป็นการบริหารงานโดยประโยชน์ทับซ้อน และมักนำไปสู่การเอาประโยชน์ประชาชนส่วนรวม ไปเข้ากระเป๋าตัวเอง และเป็นเหตุให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ** ที่กล่าวได้ว่า ตัวอย่างอดีตผู้นำ ซึ่งนอกจากมีการถือหุ้นโดยโนมินีแล้ว ยังมีรํฐบาลโนมินีติดตามปกปิดปกป้องอีกด้วย ก็อาจเป็นเพราะข้อมูลตามข่าว กับคำถามที่ยังรอ "หลักฐาน"หรือ "เหตุผล" มาชี้แจง เช่น
1.โอนหุ้นให้ลูกชายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 แล้ว เป็นการโอนจริงหรือ ? ทำไมก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ลูกชายจึงต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินอีกถึง 4,500 ล้านบาทแสดงหนี้เพิ่มให้แม่ เป็นหนี้ค่าอะไร ? ถ้าเป็นค่าหุ้นส่วนเพิ่ม แสดงว่าผู้ขายคือพ่อแม่ หลบภาษีใช่ไหม ? เพราะแจ้งว่าเป็นการขายที่ราคาพาร์ ? เป็นการถือแทนและใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินด้งกล่าวเป็นเครื่องมือถ่ายโอนประโยชน์กลับมาที่แม่หรือไม่ ? การชี้แจงก็ไม่น่ายาก เพียงเอาหลักฐานมาแสดงว่าเป็นค่าอะไรก็จบ ค่าการศึกษา ตำรา ขนม ของเล่น ? ที่เป็นเงินถึง 4,500 ล้านบาทนั้น
2.พอลูกสาวคนรองบรรลุนิติภาวะ **ทำไมพี่จึงยินดีโอนให้ที่ราคาพาร์ ทั้งที่ตนต้องแบกหนี้แถมอีก 4,500 ล้านบาทอยู่คนเดียว หากจะว่าเป็นการจัดสรรมรดก น้องสาวคนเล็กได้ด้วยหรือไม่ ? **ขายหุ้นได้เงินสดไปหลายเดือน ก็น่าจะจัดเงินสดให้ลูกทุกคนได้ใกล้เคียงกันก็ได้ กลับไม่ได้ทำ ตกลงเป็นการจัดสรรมรดก หรือถือหุ้นแทนกันแน่ ?
3.มีการขายหุ้นจากบัญชีคนรับใช้โนมินีถือหุ้นให้พี่ชายของภรรยากว่า 700 ล้านบาท แต่ภรรยาโอนเงินให้หมด และตามข่าวได้ชี้แจงว่า เป็นของขวัญสำหรับหลาน หรือวันแต่งงาน ทั้งที่วันเวลาก็ไม่ตรงนัก แต่น่าสงสัยจริงว่า มีรายการอื่นอีกไหม ที่ซื้อหุ้นในนามพี่ชายภรรยา แต่ใช้เงินภรรยา ยืนยันได้ไหมว่าไม่มีอีกแล้ว หรือถ้ามีอีก จะอธิบายได้ว่า เป็นของขวัญค่าอะไรอีกหรือไม่ ? หากเป็นรายการหุ้นอื่นอีก ทำไมมูลค่าของขวัญจึงเป็นเลขตามราคาหุ้น ไม่ใช่จำนวนกลมๆในลักษณะปรกติชาวบ้าน หรือเพราะเป็นเพียงการใช้ชื่อถือหุ้นแทนมากกว่าเท่านั้น
4.น้องสาวก็เป็นผู้บริหารกิจการขนาดใหญ่ ทำไมต้องค้างเงินเพียง 20 ล้านบาท ประมาณ 3-4 ปี จึงคืนด้วยปันผลจากหุ้น และเบิกถอนเงินสดประมาณ 2 ล้านบาทหลายสิบรายการ ก็ดูจะเข้าลักษณะโนมินี
5.ตอนที่วินมาร์คซื้อหุ้นจากอดีตผู้นำและภรรยาประมาณ 6 บริษัท มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ราคาพาร์ทั้งหมด ทั้งๆที่มูลค่าทางบัญชีก็ไม่เท่ากัน กำไรขาดทุนไม่เท่ากัน ดูเหมือนเป็นการโอนเงินจากโนมินีเข้ามาใช้ช่วงเตรียมตัวเลือกตั้ง น่าจะได้ตรวจฟอกเงินว่ามีที่มาของเงินอย่างไร หากอธิบาย "เหตุผล"ที่รับฟังได้ ก็คงพ้นข้อสงสัย **แต่ตกลงวินมาร์คเป็นใคร ซื้อหุ้นราคาพาร์จากผู้เรืองอำนาจได้ ซื้อหุ้นทั้งที่อยู่นอกตลาด ซึ่งอดีตผู้นำก็เคยอธิบายผ่านสื่อมวลชนว่า ที่เขาซื้อทั้งที่ช่วงนั้นเป็นยามลำบาก ก็เพราะจะรอเข้าตลาดฯ แต่เมื่อบริษัทเดียวจะเข้าตลาดฯ กลับโอนหุ้นยอกย้อนไป 3 กองทุนที่มีที่อยู่เดียวกันเพียง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่ง**
6.ธ. ยูบีเอส ก็เคยรายงานหุ้นไปยังสำนักงาน กลต. รวมหุ้นที่ถือโดยแอมเพิลริช และวินมาร์คว่าเป็นของบุคคลเดียวกันตามมาตรา 246 และ 258 ว่าได้หุ้นมาเกิน 5% จึงต้องรายงาน หากไม่ใช่จริง ก็คงได้แจ้งว่า "เป็นรายงานผิด จริงๆแล้วไม่ใช่ของคนเดียวกัน" ก็ไม่ได้ทำ และยังมีหลักฐานขัดกับที่อดีตผู้นำชี้แจงว่าโอนแอมเพิลริชให้ลูกชายไปแล้ว แต่ตามข่าว หลักฐานกลับแสดงว่า ตนยังเป็นผู้มีอำนาจถอนหลักทรัพย์เพียงคนเดียวต่อมาอีกหลายปี หากมี "หลักฐาน" ชัดก็ชี้แจงได้กลับยังไม่ได้ทำรัฐธรรมนูญห้ามผู้เป็นเจ้าของกิจการสัมปทานผูกขาดมาเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ก็กลัวเรื่องนี้แหละ ประเภทมาครองอำนาจ 3-4 เดือน ก็มีการเปลี่ยนเงื่อนไข ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และกิจการของตนได้ประโยชน์กันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท (รวมตลอดอายุสัมปทาน) แล้วก็เอาไปขายให้ชาติอื่น แลกเป็นประโยชน์ส่วนตัวในช่วงนี้ ก็มีการยินยอม การทำแถลงการณ์ร่วม และทำให้สถานะของประเทศไทย
ต่อกรณีนี้ดูจะเสียเปรียบถอยร่นมาพอสมควร ประชาชนก็อดระวังไม่ได้ว่า**เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลในลักษณะโนมินีอีกหรือเปล่า มีใครได้ประโยชน์จากกิจการบนเกาะกงหรือไม่ ? ภาครัฐได้ตัดถนนหนทาง โดยเงินภาษีซึ่งเป็นของประชาชนไปหรือไม่ ? เป็นประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกิจการส่วนตัว กับการลงทุนโดยรัฐอีกหรือไม่ ? เป็นรายการอีกชุดหนึ่งที่รัฐเสียประโยชน์ แล้วไปแลกเป็นประโยชนส่วนตัวอีกหรือเปล่า ?**
การที่อดีตผู้นำ ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ห้ามมีหุ้นเป็นเจ้าของสัมปทาน พรรคใหญ่ปัจจุบันทำผิดรัฐธรรมนูญ แล้วกลับบอกว่ารัฐธรรมนูญผิด แทนที่จะชี้แจงหลักฐานและเหตุผลว่าตนไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า ที่คุณจาตุรนต์จะใช้ว่า เพราะรัฐธรรมนูญ ทำให้ "รัฐบาล" ทำงานไม่ได้ ต้องเติมว่า ทำให้ "รัฐบาลที่พรรคผู้นำทำผิดรัฐธรรมนูญ" ทำงานไม่ได้ เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหาที่กฎ ชาวโลกจะเยาะเย้ยว่า เราจะยึดหลักนิติธรรมหรือไม่ ? การแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อส่วนตัวเหนือส่วนรวมหรือไม่ ? การสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองด้วยความเท็จ ก็เพื่อส่วนตัวเหนือส่วนรวมหรือไม่ ?
ขอให้คนไทย รู้รักสามัคคี ไม่ยอมรับความแตกแยก เชื่อทางสว่าง ส่งเสริมความดี ให้กำลังใจรัฐบาลในการบริหารบ้านเมืองอย่างสุจริต ทำทุกอย่างให้กระจ่างด้วยหลักฐานและเหตุผล ปราศจากประโยชน์ส่วนตัวทับซ้อนการบริหารบ้านเมือง บ้านเมืองก็จะไม่เข้าสู่วิกฤต เศรษฐกิจจึงจะดีต่อไปได้ในระยะยาวครับ
มนตรี ศรไพศาล
(ฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย)
montree4life@yahoo.com