องค์กรผู้บริโภค แฉประชานิยมเร่งด่วน 6 มาตรการ อ้างลดภาษีน้ำมัน 0% เพิ่มกำไรให้บริษัทน้ำมัน ไม่ใช่ราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชี้ เงื่อนงำไอ้โม่งชอบอ้างอิงราคาสิงคโปร์ สูบกำไร เพราะเลี่ยงใช้ราคาขายจากต้นทุนจริง รัฐต้องควักจ่าย 2.5 หมื่นล.นานอีก 6 เดือน โดยไม่จำเป็น ส่วนการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แค่สร้างละครตบตาประชาชน คาดสถานการณ์บีบ “ลูกกรอก” จนตรอก กะใช้ไม้ตาย ลดแหลกแจกแถม-หวังขายผ้าเอาหน้ารอด
วันนี้ (20 ก.ค.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมลดการเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลงลิตรละ 3.30 บาท เหลือแค่ 0.0165 บาทต่อลิตร และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.30 บาทต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร และน้ำมันไบโอดีเซลลง 2.19 บาทต่อลิตร เหลือ 0.0048 บาทต่อลิตร เป็นการช่วยบริษัทน้ำมันที่มีกำไรอยู่แล้วให้กำไรมากขึ้น แทนที่จะคิดราคาน้ำมันให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค
นางสาวสารี ระบุว่า การคิดราคาน้ำมันต้องใช้ราคาต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ราคาน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทน้ำมันใช้น้ำมันจากประเทศแถบตะวันออกกลาง และน้ำมันจากในประเทศถึงร้อยละ 21 ดังนั้น นโยบายลดภาษีสรรพสามิต จึงเป็นเพียงนโยบายที่ช่วยสร้างความร่ำรวยให้บริษัทน้ำมันเพิ่มขึ้น และประเทศต้องสูญเสียงบประมาณ 25,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันประเทศใช้น้ำมันประมาณ 20,000 ล้านลิตรต่อปี
นางสารี ยกตัวอย่างว่า หากประเทศสิงคโปร์ กำหนดราคาซื้อขายที่ 34 บาท บริษัทน้ำมันก็จะกำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทยอยู่ที่ 35 บาทโดยอัติโนมัติเพราะบวกค่าขนส่ง 1 บาททันที เมื่อรวมกับค่าการตลาด ภาษีกองทุนน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 6 บาท ทำให้ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในท้องตลาดจะอยู่ที่ 41 บาท
แต่หากพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายประมาณ 140 เหรียญต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบก่อนการกลั่นของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ซึ่งหากรวมค่าขนส่งและค่าการกลั่นจำนวน 2 บาท ค่าการตลาดและภาษีทุกประเภทอีก 6 บาท ดังนั้น บริษัทน้ำมัน หรือปตท. ควรจะขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 36 บาทก็มีกำไรแล้ว
ทั้งนี้ ในทางกลับกัน หากปตท.กลั่นน้ำมันส่งออกไปขายที่สิงคโปร์ จะขายได้ในราคาเพียง 33 บาทเท่านั้น เพราะต้องหักต้นทุน 1 บาทสำหรับค่าขนส่งน้ำมัน
นางสาวสารี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน น่าจะทราบปัญหาการคิดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคนี้ดี จึงมีมติเสนอให้บริษัทน้ำมันลดราคาเพื่อลดภาระของประชาชนจำนวน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งบริษัทก็ยังคงมีกำไรมากมาย แต่บริษัทน้ำมันได้สร้างภาพร่วมกันโดยลดราคาน้ำมันให้มากกว่าที่รัฐมนตรีขอความร่วมมือถึง 3 บาทต่อลิตร แต่เป็นการลดราคาให้เพียง 700 ล้านลิตรเท่านั้น คิดเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 10 ที่รัฐมนตรีเสนอ เพราะประเทศไทยใช้น้ำมันโดยรวมประมาณ 20,000 ล้านลิตรต่อปี
“ในขณะที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบของราคาน้ำมัน ทั้งผู้บริโภคและภาคการผลิต แต่บริษัทน้ำมันที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศ สามารถทำกำไรได้อย่างมากมายมหาศาลระดับแสนล้าน ใช้เงินทำการตลาด การโฆษณา สร้างภาพองค์กร”
ส่วนการที่รัฐบาลจะชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน 6 เดือนนั้น โดยข้อเท็จจริง รัฐไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในประเทศได้ถึง 10 ปี และในปัจจุบันราคาก๊าซแอลพีจีที่กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ยังเป็นราคาที่มีกำไร และไม่ได้อุดหนุนราคาแต่ประการใด
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่รัฐลดภาษีน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลนั้นมีความเป็นห่วง ว่า ในช่วงหมดระยะเวลาช่วยเหลือนั้นเป็นช่วงที่น้ำมันดีเซลอยู่ในช่วงขาขึ้น และเมื่อบวกกับภาษีที่ต้องปรับคืนอีกเกือบ 3 บาท/ลิตร ถือเป็นระดับที่แรงมาก จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนไปอีก ราคาสินค้า และค่าขนส่งจะรับตรงนี้ได้หรือเปล่า ตรงนี้ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้จะดูเป็นการซื้อเวลา แต่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ มาตรการเกี่ยวกับพลังงานต้องไม่เกิดปัญหาเหมือนปี 2548 ที่รัฐบาลเข้าไปอุ้มราคาน้ำมันจนขาดทุน รัฐบาลต้องส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่ใช่มาตรการระยะยาว ต้องเตือนประชาชนว่าในที่สุดต้องมีการลอยตัวราคาพลังงานให้ประชาชนปรับตัว เพราะขณะนี้ราคาในตลาดพลังงานมีความเสี่ยงสูงมาก
ขณะที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมือง มองภาพ 6 มาตรการ ว่า เป็นแค่มหกรรมเทกระจาด ลด แลก แจก แถม ด้วยการผลาญงบประมาณแผ่นดินถึง 4.6 ล้านบาท สำหรับมาตรการประชานิยมต่างๆ เพื่อซื้อใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็นค่ารถเมล์ฟรี ค่ารถไฟชั้น 3 ฟรี ค่าน้ำ และค่าไฟฟรี การลดภาษีน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต เคยประสบความสำเร็จจนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
แต่กลยุทธ์แบบลดแลกแจกแถม ถูกมองว่าไม่มีความจริงใจและมอมเมาประชาชน และเป็นวิธีการฉาบฉวยขายผ้าเอาหน้ารอดที่ไม่ยั่งยืน แต่จะส่งผลเสียหายต่อภาระการคลังของชาติในระยะยาว รวมทั้งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการซื้อเสียงทางอ้อมหรือซื้อเสียงล่วงหน้าแบบอัฐยายซื้อขนมยาย โดยนำเงินภาษีแผ่นดินอันเป็นเงินของประชาชนมาซื้อเสียงจากประชาชนเพื่อให้ตัวเองครองอำนาจได้อย่างยาวนาน
“มาตรการเทกระจาดแบบลดแลกแจกแถมของรัฐบาลหุ่นเชิดครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า สะท้อนให้เห็นถึงภาวะจนตรอกตลอดจนความล้มเหลวไร้ฝีมือของรัฐบาลจนต้องดิ้นรนยืดอายุตัวเองด้วยมาตรการลดแลกแจกแถมแบบขายผ้าเอาหน้ารอด”
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังปูทางเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทิ้งไพ่ตาย คือ ยุบสภาในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านความเห็นชอบจากสภา ตลอดจนยึดอำนาจในกองทัพจากการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปลายปี ซึ่งทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือน ต.ค.นี้
นอกเหนือจากมาตรการลดแลกแจกแถมการยืดอายุรัฐบาลหุ่นเชิด ยังรวมถึงปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่กว่า 10 ตำแหน่งในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่และความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลหุ่นเชิด