xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนหันใช้สวอปรับดบ.พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟันด์เมเนเจอร์กองทุนรวม มองดอกเบี้ยขาขึ้นเตรียมปรับอายุตราสารหนี้ในการลงทุน ระบุแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.จะไม่กระทบยิลด์บอนด์ในประเทศ เหตุผลตอบแทนปรับตัวไปล่วงหน้ามากแล้ว พร้อมชูกลยุทธ์สวอปช่วยเพิ่มผลตอบแทนกองตราสารหนี้ระยะกลางแทนการล็อกอัตราดอกเบี้ยคงตัว หลังการลงทุนรูปแบบเดิมจะทำให้กองประเภทนี้ขาดทุนได้จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนตราสารหนี้ในประเทศหลังจากนี้คงจะต้องมีการปรับลดอายุลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น จากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องของเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ คงจะไม่กระทบต่อผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้มากนัก เนื่องจากผลตอบแทนมักมีการปรับไปตามคาดการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว

“การปรับดูเรชั่นในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ผู้จัดการกองทุนดูแลมาตลอด อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งหน้านี้จากแรงกดดันของเงินเฟ้อคงไม่กระทบต่อยิลด์ในตลาดตราสารหนี้มากนัก เพราะตามปกติแล้วส่วนใหญ่ยิลด์ของมันมักจะปรับไปก่อนตามคาดการณ์ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่แรกแล้ว”นายอาสากล่าว

ทั้งนี้ ผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ประมาณ 2 เดือนที่แล้ว โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีขณะนี้ผลตอบแทนได้ไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5% และถือว่าสูงมากกว่าช่วงประมาณเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ประมาณ 4.4% และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ประมาณ 3.95% เท่านั้น

นายอาสา กล่าวอีกว่า การลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางของบริษัทขณะนี้ ได้รับผลดีจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากบริษัทได้มีการนำเครื่องมือการสวอปอัตราดอกเบี้ยมาใช้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งหากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางรูปแบบเดิม เมื่อมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ผลตอบแทนลดลงได้

“ทั่วไปดอกเบี้ยของบอนด์ในตลาดมันจะเป็นแบบคงที่ คือหากอยู่ที่ 5% แล้วต่อมามันขึ้นเป็น 6% ราคาพันธบัตรของเราจะตกคือ หากเป็น 1,000 บาท มันจะเหลือแค่ประมาณ 950 บาท เพื่อคนที่ซื้อต่อเขาจะได้ยิลด์ที่ 6% เท่ากับที่มันขึ้นมา”

สำหรับเครื่องมือที่นำมาใช้นั้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลงทุนในตราสารเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยจะต้องมีข้อตกลงร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องนี้ก่อนถึงจะสามารถทำได้ ซึ่งกองทุนตราสารหนี้ของบริษัทส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือนี้เกือบทุกกองทุนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนตราสารหนี้ของบริษัท ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางมีผลตอบแทนสูงสุดคือ ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.68% ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 4.05% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 4.68% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 3.37% และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 4.22%

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือนี้เพียงเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งบางครั้งผลตอบแทนที่ได้อาจไม่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน โดยกองทุนที่บริษัทจะไม่นำเครื่องมือนี้มาใช้คือ กองทุนประเภทมันนี่มาร์เก็ต ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือนอยู่แล้ว

นายอาสา กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันจะทำให้กองทุนประเภทโลว์โอเวอร์แบบ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี จะได้รับผลดีจากเรื่องนี้ แต่คงจะไม่เห็นผลทันที เนื่องจากต้องดูการปรับตัวของแบงก์พาณิชย์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ด้าน นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ กนง. อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้การลงทุนในกองทุนระยะ สั้นๆ เมื่อครบอายุ มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนครั้งต่อไป

ทั้งนี้ บลจ.อยุธยาจึงขอแนะนำการลงทุนระยะสั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเป็นที่พึงพอใจแก่นักลงทุนได้แก่ กองทุนเปิดอยุธยาเอ็นแฮนซ์โน้ทพลัส 3M1 (AYFENP3M1) และกองทุนเปิดอยุธยาเอ็นแฮนซ์โน้ทพลัส 6M1 (AYFENP6M1) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนในระหว่างวันที่ 7-14 ก.ค. 2551 นี้

สำหรับกองทุนทั้ง 2 กองนี้จะเน้นลงทุนตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 2 อันดับแรก โดยมีผู้ออก ได้แก่ National Australia Bank, Industrial Bank of Korea, Kookmin Bank, AUST & NZ Bank, ABN Amro Bank เป็นต้น

โดยกองทุนเปิดอยุธยาเอ็นแฮนซ์โน้ทพลัส 3M1 มีอายุประมาณ 3 เดือน และกองทุนเปิดอยุธยาเอ็นแฮนซ์โน้ทพลัส 6M1 นั้น มีอายุประมาณ 6 และคาดว่าทั้งสอง กองทุนจะได้รับอัตราการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 3.00% และ 3.50% ต่อปี โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 0.37% และ 0.30% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น