"ปตท." เปิดแผนลงทุนระยะยาวถึงปี 63 ทุ่มเงินลงทุนกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งลงทุนในประเทศและต่างประเทศเป็นสัดส่วน 39 ต่อ 61 ระบุส่วนใหญ่ลงทุนในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมูลค่ากว่า 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้าน "ประเสริฐ" ฟุ้งเตรียมผลักดันให้เป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติของโลก ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 100 "ฟอร์จูน" ภายในปี 2555 พร้อมเปรยจะถึงฝั่งฝันหรือไม่ขึ้นอยู่ผู้ถือหุ้นหลักจะยอมรับราคาพลังงานต้องสะท้อนตลาดโลก มิใช่คอยโอบอุ้มผู้บริโภค
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึง แผนการลงทุนระยะยาวของกลุ่มบริษัทในเครือปตท. ว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2551-2563 เครือปตท.มีแผนจะลงทุนประมาณ 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 4 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของบริษัท
ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ปตท. เป็นบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของโลก ด้วยการนำบริษัทติดอันดับ 100 บริษัทของฟอร์จูนภายในปี 2555 จากเมื่อปี 2550 ปตท.ติดอยู่ในอันดับ 207
"เรามีโอกาสจะเป็นบริษัทข้ามชาติของโลกด้านพลังงาน ถ้าผู้ถือหุ้นหลักทั้งหมดยอมรับความจริง แต่ถ้าเรามองว่าราคาพลังงานแพงประชาชนเดือดร้อน ไม่รับความเป็นจริงราคาพลังงานตลาดโลกก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเวลานี้เรตติ้งปตท.ก็คือเรตติ้งประเทศ แต่ที่ผ่านมาเราก็ได้ทำแบบพอเพียงไม่เกิน ไม่ต่ำ ดูแลสังคมประกอบมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าปตท.ผูกชีวิตไว้กับราคาพลังงาน ต้องแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก แข่งกับโรงกลั่นน้ำมันในจีน แข่งธุรกิจปิโตรเคมีกับอินเดีย ซึ่งจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเราเอง" นายประเสริฐกล่าว
สำหรับรายละเอียดแผนการลงทุนปี 2551-2563 มูลค่าลงทุนรวม 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น แบ่งเป็นสัดส่วนประมาณ 61%ลงทุนในต่างประเทศ และที่เหลืออีก 39% เป็นการลงทุนในประเทศ ประกอบด้วย กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 76,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กิจการก๊าซธรรมชาติ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กิจการปิโตรเคมี 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กิจการโรงกลั่นน้ำมัน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กิจการไฟฟ้า 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวกลุ่มปตท.ยังมีแผนที่จะลงทุนในกิจการพลังงานใหม่ๆ ด้วย ประกอบด้วย ลงทุนในกิจการเอทานอลประมาณ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนเกี่ยวกับปาล์มดิบ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ การค้าถ่านหิน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายประเสริฐ กล่าวว่า จากแผนการลงทุนดังกล่าวภายในปี 2555 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 94,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2550 ที่มีรายได้ 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 15% ต่อปี และภายในปี 2563 ตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 176,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีการเติบโตประมาณ 8% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรไว้รองรับ ซึ่งประเมินว่าอีก 12 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2563 ปตท.ต้องการบุคลากรฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป ประมาณ 410 คน สามารถที่จะพัฒนาคนภายในองค์กรขึ้นมาแทนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่คาดว่าจะยังขาดแคลนบุคลากรและต้องเร่งพัฒนาอีกประมาณ 270 คน
ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้จัดทำแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2551-2555) จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 241,211 ล้านบาท หรือประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ ถึง 72% เช่น โครงการท่อก๊าซฯในทะเลเส้นที่ 3 เฟส 2 โครงการท่อก๊าซฯ บนบกเส้น 3 โครงการท่อก๊าซฯบนบกเส้น 4 โครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นต้น
โดยในปี 2551 นี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการต่างๆ ประมาณ 65,563 ล้านบาท ในปี 2552 ใช้เงิน 71,905 ล้านบาท ปี 2553 ใช้เงิน 58,390 ล้านบาท ปี 2554 เงินลงทุน 28,663 ล้านบาท และปี 2555 เงินลงทุน 16,690 ล้านบาท
ส่วนแผนการลงทุนของกลุ่มปตท. ในปี 2551-2555 นั้น ตั้งเป้าจะใช้เงินลงทุนประมาณกว่า 8 แสนกว่าล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี 5 แสนกว่าล้านบาท ธุรกิจสำรวจและผลิตของบมจ.ปตท.สผ.และปตท.อีก 2 แสนกว่าล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานบมจ. ปตท. ล่าสุด ประจำงวดไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 26,132.56 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 9.27 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 22,573.04 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.05 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3,559.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 15.77%
โดยไตรมาสแรก ปตท. รายได้จากการขาย 489,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 192,176 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.6% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์โรงแยกก๊าซที่สูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ EBITDA อยู่ที่ 36,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,937 ล้านบาท หรือ 12.0% ขณะที่กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 4,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,535 ล้านบาท หรือ 153.4% ตามการแข็งตัวของค่าเงินบาท