xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ดัชนีเชื่อมั่นทรุดรอบ5ปี เอกชนวิตกเงินเฟ้อฉุดลงทุนไม่กระเตื้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.-ส.ค.) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 44.1 ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 46 ธปท.ยังมั่นใจไตรมาส 2 จีดีพีเกิน 6% แม้ผู้ประกอบการและนักลงทุนยังหวั่นเงินเฟ้อกดดันการลงทุน ระบุแม้ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุล ยอมรับเล็งเป้าใหม่ จากเดิม 4-7 พันล้านเหรียญเป็นไปได้ยาก

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 (เม.ย.-พ.ค.) ยังคงขยายตัวในระดับที่ดีจากการส่งออกยังขยายตัวได้ดีอยู่ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอาจบั่นทอนต่อเศรษฐกิจระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ไม่น่าจะต่ำกว่าไตรมาสแรก คือ 6%

ทั้งนี้ การลงทุนชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยข้อมูล 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ลดลงอยู่ที่ระดับ 5.2% เทียบกับไตรมาสแรกอยู่ที่ 7.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามและส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ประเมินต้นทุนและระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น แม้กำลังการผลิตจะสูงขึ้นก็ตาม

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 43.0 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 43.9 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 โดยองค์ประกอบที่ปรับตัวดีขึ้น คือ การจ้างงาน จำนวนคำสั่งซื้อ และระดับการผลิต ส่วนองค์ประกอบทุกตัวของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.-ส.ค.) ปรับลดลงทุกตัว โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.1 จากครั้งก่อนที่ประเมินไว้ที่ระดับ 49.9 ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนแต่เมื่อเทียบกับข้อมูล 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 7.1% จากไตรมาสแรกที่ระดับ 7% โดยแม้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงจากราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 3 บาท และดีเซลเพิ่มขึ้น 4 บาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่กลับมาบริโภคพลังงานทดแทนอย่าง LPG และ NGV มากขึ้น ดังนั้น ประชาชนควรหันมาประหยัด เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นแรงกดดันให้ในอนาคตมูลค่านำเข้าในหมวดนี้เพิ่มขึ้น และอาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลได้

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตปรับตัวลดลง โดยเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 78.8 ลดลงทุกรายการต่อเนื่องจากระดับ 79.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลการเมืองไม่มีเสถียรภาพ

“ยอมรับว่าการลงทุนพลาดไปบ้างจากการที่เราประเมินไว้ แต่เมื่อเทียบกับการบริโภคยังยังใกล้เคียง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไตรมาส 2 ตัวเลขการบริโภคไม่น่าจะต่ำ”

สำหรับภาคต่างประเทศในเดือนพ.ค.การส่งออกมีมูลค่า 15,296 ล้านเหรียญ โดยหมวดสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากราคาพืชผลสูง แต่หมวดประมง ปริมาณปลาแช่แข็งกลับลดลง แต่ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 การส่งออกยังขยายตัวในเกณฑ์ดีอยู่ที่ 25.1% เทียบกับไตรมาสแรกขยายตัว 22.9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 14,028 ล้านเหรียญ ชะลอตัวจากปริมาณนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% จากเดือนก่อนที่ 88.9% ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าโดยรวมติดลบถึง 1.4% จากเดือนก่อนที่เร่งตัวถึง 22.2% ส่วนสินค้าทุนชะลอตามนำเข้าเครื่องจักร หมวดวัตถุดิบชะลอตามการนำเข้าเหล็กและเคมีภัณฑ์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคก็ชะลอตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ

ทำให้เดือนนี้มีดุลการค้าเกินดุลที่ 1,268 ล้านเหรียญ และ 5 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุล 600 ล้านเหรียญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 637 ล้านเหรียญ เพราะภาคเอกชนส่งกลับกำไรและเงินปันผล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 631 ล้านเหรียญ จากที่ขาดดุลถึง 1,661 ล้านเหรียญในเดือนก่อน

“ในปีนี้เชื่อว่าไทยจะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดไปแล้วกว่า 2,000 ล้านเหรียญ แต่จะให้ถึงระดับ 4,000-7,000 ล้านเหรียญ ที่กนง.ประเมินไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งก่อนคงเป็นเรื่องยาก เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้นเยอะ จากช่วงนั้นราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ94 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่าราคาต่างกันเยอะ จึงต้องมีการปรับประมาณการใหม่ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเครื่องชี้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการประชุมขึ้นวันที่ 28 ก.ค.นี้”

นอกจากนี้ภาคการเงินในเดือนพ.ค.เงินฝากมีอัตราการขยายตัว 1.5% ซึ่งเมื่อรวมกับตั๋วแลกเงิน(บี/อี)เพิ่มขึ้นเป็น 6.7% ด้านสินเชื่อขยายตัว 8% โดยเป็นการเร่งขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการปล่อยกู้ในส่วนของภาคธุรกิจและครัวเรือนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีการให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการลงทุนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น