xs
xsm
sm
md
lg

BTเผยสินเชื่อรายย่อยแผ่ว ศก.ไม่เอื้อ-คุมเข้มปล่อยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยธนาคารรับยอดสินเชื่อรายย่อย 5 เดือนแรกที่ผ่านมาขยับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สัดส่วนการอนุมัติลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อทำให้ต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น แต่ยังคงเป้าสินเชื่อรายย่อยทั้งปีเพิ่มเป็น 2.2 หมื่นล้าน จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1.85 หมื่นล้าน ส่วนภาพรวมครึ่งปีหลังสินเชื่อยังโตยากหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

นายธาดา จารุกิจไพศาล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจรายย่อย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน)หรือ BT เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างธุรกิจรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ล้านบาท โดยต้องยอมรับว่าสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อประเภทต่างต่างๆจะลดลง โดยสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อบุคคลปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 27% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 30% ขณะที่สินเชื่อบ้านมียอดอนุมัติอยู่ที่ 47% จากปีก่อนที่อยู่ 50% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อและสถาบันการเงินต่างๆมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น

"แม้ว่าสัดส่วนในการอนุมัติเงินกู้จะลดลง แต่หากดูความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นแนวโน้มBTสินเชื่อจึงน่าจะโตตามเป้า แม้ว่าโอกาสทะลุเป้าจะมีไม่มากนัก"นายธาดากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารยังคงตั้งเป้าหมายสินเชื่อคงค้างในส่วนของธุรกิจรายย่อยว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านบาทจากสิ้นปี 2550 ที่มีสินเชื่อคงค้างธุรกิจรายย่อยอยู่ที่ 18,500 ล้านบาท แม้ว่าปีนี้การปล่อยสินเชื่อจะทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

สำหรับ 5 เดือนที่ผ่านมาร การปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะมีความลำบากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากราคาน้ำมันในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับกว่า 40 บาทต่อลิตร ขณะที่ปีที่ผ่านมราคาน้ำมันอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อลิตร แต่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของสินเชื่อบ้าน ยังไม่ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก โดยสัดส่วนปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำกว่า 1%

ทั้งนี้ แนวทางในการดูแลลูกค้าบางส่วนจะเริ่มมีปัญหาเพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง ธนาคารจะมีการเจรจากับลูกค้า ซึ่งธนาคารก็ได้มีการผ่อนปรนโดยการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้ จึงทำให้ระดับเอ็นพีแอลของธนาคารยังไม่เพิ่มขึ้น

"ถ้าลูกค้าที่เริ่มมีปัญหาก็ต้องเข้ามาเจรจาธนาคาร ซึ่งจะมีแนวทางในการแก้ไขหลายแนวทาง ส่วนใหญ่ก็จะขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระให้ เช่นจาก เดือนละหมื่นบาท เป็นเวลา 5 ปี อาจผ่อนปรนเป็น 7 พันบาท แต่เพิ่มเวลาเป็น 6 ปี เป็นต้น" นายธาดากล่าว

นายธาดากล่าวอีกว่า แนวโน้มการทำธุรกิจในครึ่งปีหลังของธนาคารน่าจะเน้นในด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากกว่าจะเน้นที่การเติบโต เนื่องจากสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอน จึงทำให้ธนาคารยังคงต้องมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่ออยู่

รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงต่อไป ก็จะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อในครึ่งปีหลังเช่นกัน จึงมองว่าสินเชื่อครึ่งปีหลังจะไม่โตอย่างหวือหวา หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น