xs
xsm
sm
md
lg

จี้สรรพากรสรุปขายคืน RMF บลจ.โวยหลักเกณฑ์ไม่เคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมบลจ.หารือสมาชิก เร่งหาข้อสรุปแนวทางขายคืนหน่วยลงทุนกอง RMF หลังสรรพากรการตีความอย่างไม่เป็นทางการทำผู้ถือหน่วยเสียสิทธิ เพราะหากขายคืนหน่วยตามสิทธิ 5 ปี ต้องขายคืนทั้งหมดที่ลงทุนไปก่อนใช้กฎหมายใหม่ จี้ให้ทันก่อนจบปีภาษี 2551

นางสาวดวงกมล พิศาล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยว่า สมาคมบลจ. เตรียมหารือกับบริษัทสมาชิก เพื่อทำหนังสือถึงกรมสรรพากรให้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ซื้อหน่วยลงทุนก่อนกฏหมายใหม่มีผลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา หลังจากมีการตีความออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า หากผู้ลงทุนที่ถือหน่วยมาเกิน 5 ปี แล้วต้องการขายคืนหน่วยลงทุนตามสิทธิ จะต้องขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่ซื้อไปก่อนกฏหมายมีผลด้วย

กล่าวคือ ผู้ลงทุนรายใดที่ซื้อหน่วยลงทุนมาตั้งแต่เริ่มต้นหรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว หากต้องการขายคืนหน่วยลงทุนที่ซื้อมาในปีแรกตามสิทธิหลังจากถือมาครบ 5 ปี ถ้าคิดตามการตีความดังกล่าว ผู้ลงทุนต้องรวมการขายคือหน่วยลงทุนทั้งหมดที่ซื้อหลังจากนั้นเข้าไปด้วย นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุนจะต้องขายคืนหน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนกฎหมายมีผลออกไปทั้งหมด โดยสิทธิที่เหลือจากการซื้อในปีที่ 2 หรือปีที 3 จนถึงปีที่ 6 ไม่สามารถนำมาคำนวนกับการลงทุนใหม่ที่ซื้อหลังกฏหมายมีผลได้

ทั้งนี้ หลังจากหารือเรื่องดังกล่าวระหว่างบริษัทสมาชิกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ลงทุน ถึงแม้จะขายได้โดยไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้ใช้ไปแล้วก็ตาม แต่เราเห็นว่าผู้ลงทุนน่าจะได้สิทธิตรงนี้คงไว้ เพราะมันมีผลกระทบต่อการวางแผนภาษีของผู้ลงทุนที่มีการลงทุนสะสมมาแล้วก่อนหน้านี้ เพราะหากสรรพากรเหมารวมหมด ผู้ลงทุนก็จะต้องกลับมาเริ่มต้นการลงทุนสะสมใหม่ให้ครบ 5 ปีก่อน ถึงจะขายหน่วยลงทุนได้ตามกฎหมาย

"สมาคมบลจ. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟ เพราะหลายคนวางแผนภาษีด้วยการลงทุนสะสม แต่หากต้องขายคืนทั้งหมดที่สะสมมา ผู้ลงทุนต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนี้ เราจะขอความเห็นจากบริษัทสมาชิก เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง โดยเฉพาะความชัดเจนที่ว่าจะให้ผู้ลงทุนขายคืนอย่างไร คิดคำนวนภาษีอย่างไร จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยเก่าที่ซื้อก่อนกฎหมายใหม่ หรือผู้ซื้อหลังกฎหมายมีผลอย่างไร ก่อนจะเสนอให้สรรพากรพิจารณาต่อไป"นางสาวดวงกมลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา กฎกระทรวงที่ออกมามีเพียงการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจาก 300,000 บาทเป็น 500,000 บาทเท่านั้น แต่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ ว่าผู้ถือหน่วยจะทำอย่างไรระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ยังไม่ออกมา ซึ่งสาเหตุนี้เองทำให้บริษัทจัดการกองทุนหลายราย ไม่มีการรับโอนหรือแนะนำให้ลูกค้าขายหน่วยลงทุนออกมาเลย เพราะไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผลต่อการขายคืนหรือการซื้อหน่วยลงทุนใหม่อย่างไร ถ้าคนที่ถือครบตามเงื่อนไขก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่ยังถือไม่ครบถามเงื่อนไข จะมีการโอนย้ายหรือขาย ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาตัวไหนมาคิดเป็นต้นทุนหรือตัวไหนที่จะโดนคิดภาษี

"ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้หลายบลจ.แนะนำลูกค้าอย่าเพิ่งขายหน่วยลงทุนออกมา แม้จะถือครบตามเงื่อนไขแล้วก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าถ้าขายวันนี้ แล้วสรรพากรเริ่มนับหนึ่งใหม่ เขาก็จะเสียสิทธิที่เขาเคยลงทุนมาแล้ว เช่นลงทุนมาแล้ว 7 ปี ต้องการขายคืนตามสิทธิถือ 5 ปี แล้วอีก 2 ปีที่เหลือ จะสามารถถือควบไปกับสิทธิใหม่ หรือควบกับการลงทุนใหม่จากยอดที่ซื้อหลังกฎหมายมีผลได้หรือไม่ แต่การตีความอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่า ถ้าซื้อวันนี้ก็จะนับหนึ่งใหม่ทันที โดยไม่รวมยอดเงินลงทุนเก่าให้"นางสาวดวงกมลกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการศึกษาและหาข้อสรุปแนวทางที่ชัดเจนเพื่อเสนอให้สรรพากรพิจารณาต่อไป ซึ่งเราเองอยากเห็นความชัดเจนของเรื่องดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ หรือก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2552 เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำไปคำนวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ภายในปีภาษี 2551 ประกอบกับช่วงสิ้นปีเอง เป็นช่วงที่ผู้ลงทุนนิยมลงทุนค่อนข้างมาก จึงไม่อยากให้นักลงทุนเกิดความสับสน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความไม่ชัดเจนดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เนื่องจากหากมีการลงทุนเป็นครั้งแรกในปีนี้ก็จะไม่มีผลกระทบอะไร ผู้ลงทุนเองก็มีความเข้าใจในกฏหมายใหม่ด้วย ประกอบกับที่ผ่านมา มีบริษัทจัดการกองทุนที่เปิดขายกองทุนใหม่ ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนยังใช้เป็นช่องทางในการออมระยะยาวอยู่

**AYF เบรกขายหน่วยเป็นเงินบาท**

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว บลจ. อยุธยา จำกัด ได้ประกาศหยุดรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนเป็นเงินบาทของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการ ซึ่งประกอบด้วย กองทุนเปิดอยุธยาพันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนเปิดอยุธยาทวีทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนเปิดอยุธยา SET100 เพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนเปิดอยุธยาอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิดอยุธยาหุ้นปันผลเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นการชั่วคราว

โดยเหตุผลหลักเนื่องมาจากที่กรมสรรพากรได้ประกาศเกี่ยวกับผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 และถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปี แต่ต้องการขายคืนหน่วยลงทุนโดยไม่ผิดเงือนไข และเพื่อป้องกันการผิดพลาดทางบลจ.เอวายเอฟ จึงให้มีการขายคืนหน่วยลงทุนเป็นหน่วยแทนการซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นบาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป แต่บริษัทจัดการยังคงเปิดรับคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเป็นหน่วยลงทุน หรือ เป็นเงินบาทได้ตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น