xs
xsm
sm
md
lg

"โฆสิต"แนะแบงก์ปรับตัวรับเสี่ยง ชี้แนวโน้มดบ.ยังมีโอกาสพลิกผัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"โฆสิต"ชี้ทิศทางการดำเนินงานแบงก์ต้องเน้นการปรับตัวเชิงคุณภาพตัวเองและลูกค้าให้มากขึ้น แต่ไตรมาส 2 ทุกแห่งยังเดินหน้าได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ด้านเศรษกิจไทยยังต้องพึ่งความแข็งแกร่งของเอกชนช่วยขับเคลื่อน ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยยังมองยาก และมีโอกาสผันผวน

หลังจากไปรับใช้ชาติด้วยการเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 1 ปี ปัจจุบันนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ก็ได้กลับคืนสู่วงการธนาคารอีกครั้งในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รวมทั้ง ได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับระบบธนาคารพาณิชย์และประเด็นอื่น ๆ หลังกลับเข้ามาทำหน้าที่นายธนาคารอีกครั้งว่า

ระบบธนาคารมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่
หลังจากที่ได้กลับเข้ามาดู 2 เดือนแล้ว ก็ไม่มีอะไรในระบบธนาคารที่เปลี่ยน การแข่งขันยังอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่าง สภาพแวดล้อมโดยพื้นฐานก็มีการเติบโต กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทุกธนาคารทำก็พยายามแข่งกันให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ที่หลากหลาย หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ลดลงเกือบทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคารกรุงเทพด้วย กำไรในไตรมาส 1 ของปีนี้ก็ดีเกือบทุกธนาคาร ส่วนไตรมาส 2 ก็คงต่อเนื่อง แต่ถ้าจะมีอะไรก็คงจะมาจากปัจจัยข้างนอกมากกว่า

ตอนนี้ก็อยู่ที่การปรับตัว ซึ่งทั้งเราและลูกค้าก็ปรับตัวล่วงหน้า ซึ่งการปรับตัวก็มองว่าเป็นความยากลำบากแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวของธนาคารกรุงเทพก็คงทำในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรกับลูกค้า เรื่องความเสี่ยงก็ต้องดูแล การขยายตัวเชิงปริมาณตอนนี้มีความจำเป็นน้อยลง แต่ต้องทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งการปรับตัวไม่ใช่จะทำได้คนเดียวก็ต้องเป็นพันธมิตรกันเพราะที่เราแพ้ประเทศอื่นก็คือเรื่องของเครือข่าย

การปรับตัวที่พูดถึงคืออะไร
การปรับตัวตอนนี้ คือ การดูแลความเสี่ยงที่คำจำกัดความก็ขึ้นอยู่กับคำนิยามของแต่ละแห่งว่าเป็นอย่างไร ส่วนของธนาคารกรุงเทพก็คือการเป็นพันธมิตร โดยการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับลูกค้า ก็จะทำให้มีการปรับปรุงในเชิงคุณภาพก็จะทำการขยายผลไปเรื่อยๆ กับห่วงโซ่ที่แข็งแกร่ง การปรับตัวของธนาคารก็เหมือนของลูกค้า คือต้องปรับในเชิงคุณภาพให้มากขึ้น ก็คือต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าใครมีประสิทธิภาพที่ดีทำให้ลูกค้าพึงพอใจก็จะไปต่อได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่รอดและต้องเป็นเอ็นพีแอล

ตอนนี้เรื่องทุนในระบบธนาคารก็จบไปแล้ว แต่เอ็นพีแอลนั้นก็คงไม่มีใครอยากให้ปัญหานี้เป็นประเด็น การพัฒนาเชิงคุณภาพจะช่วยให้หาสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าลูกค้าไม่ปรับปรุงคุณภาพก็จะทำให้เกิดความวิตกได้ในภายหน้า โดยหลักใหญ่ๆแล้วระบบธนาคารของเอกชนตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องทุน สภาพคล่องยังดี ส่วนของการออกหุ้นกู้นั้นตอนนี้ธนาคารกรุงเทพยังไม่ต้องทำเพราะยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2

มองเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร
เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจคงทำได้ตามที่กำหนดไว้ แต่เสถียรภาพคงยากลำบาก ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชน ตอนนี้ไม่มีใครสร้างความเติบโตได้นอกจากเอกชน ความเข้มแข็งของเอกชนเป็นความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ การแข่งขันก็อยู่ที่เอกชน ส่วนเสถียรภาพตอนนี้ก็คือเงินเฟ้อที่ทำให้คนมีภาระต้องปรับตัว จะทำให้ให้อยู่กลาง ๆ เพราะคนที่ต้องพึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจก็เยอะ แต่คนมีภาระในการปรับตัวก็มี ทำให้จะให้อยู่ตรงกลางจริง ๆ เรากำลังฝ่าความไม่แน่นอน เราเชื่อมานานแล้วว่าปัญหาที่เกิดในประเทศใหญ่ ๆ เป็นเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบในวงกว้างได้ ทั้ง ๆ ที่มีคนบอกว่าการปรับตัวของสหรัฐอเมริกาจะไม่กระทบเอเชีย แต่มันก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้เพราะตลาดยังมีความผันผวนและอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น เหมือนปี 2540 ที่เราผ่านมาแล้วมันกระทบประชาชนก็คงไม่จบง่าย ๆ ส่วนกระแสเงินไหลเข้าออกนั้น ก็มีเข้า ๆ ออก ๆ ส่วนราคาน้ำมันก็อยู่ที่ว่าโลกจะโตเท่าไหร่ ถ้าโตแล้วน้ำมันขึ้นราคาน้ำมันก็คงยิ่งขึ้น ต้องดูว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะได้รับการปรับปรุงให้ประหยัด

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นทิศทางไหน
จากที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ได้มองว่าในที่สุดอัตราดอกเบี้ยคงขึ้นในช่วงปลายปี ตามแนวโน้มของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่คงไม่ขึ้นถึงขั้นที่ต้องกังวล แต่โอกาสผันผวนนั้นก็มี คือ เรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นมีมิติเยอะ จะขึ้นเท่าไหร่มองยาก ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้กำหนดนโยบายว่าเขาต้องการจุดไหน การเติบโตหรือเสถียรภาพ แต่ถ้าเป็นผมจะเลือกดุลยภาพ

"ดอกเบี้ยก็คือการส่งสัญญาณ ส่งมาอย่างไรก็คงต้องตาม แต่โอกาสที่จะผันผวนก็มี ดังนั้น ทางการก็คงมีสิ่งที่ต้องกังวล เช่น เงินเฟ้อ ถ้าขึ้นเงินจะไหลเข้าหรือไม่ ต้องยอมรับว่าในบางเหตุการณ์จะต้องมีการผสมผสานเป้าหมาย และการที่ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาระยะหนึ่ง ก็เป็นเพราะเขาเลือกแล้วว่าจะไม่ขึ้น แต่จากสัญญาณที่ส่งมาว่าอาจจะปรับขึ้นนั้น ก็เป็นธรรมดาของธนาคารกลางยุคใหม่ที่จะส่งสัญญาณ และการส่งสัญญาณ ก็มีผลต่อตลาดด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น