xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยสินเชื่ออุปโภคชะลอ ผวาค่าครองชีพพุ่งคนไม่กล้ากู้แบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยผลประกอบการแบงก์ไตรมาสแรกปีนี้กลับมากำไรกว่า 3 หมื่นบาท จากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 7,500 ล้านบาท เหตุแบงก์หมดภาระกันสำรองตาม IAS39 และเริ่มมีกำไรจากเงินลงทุนและปริวรรตเงินตรา ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคเริ่มขยายตัวในอัตราลดลง เหตุกังวลค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หวังไม่สร้างแรงกดดันให้เอ็นพีแอลในระบบพุ่ง

นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 7.5 พันล้านบาท เนื่องจากภาระการกันสำรองตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ(IAS39) ได้ครบหมดแล้วตั้งแต่สิ้นปีก่อน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากเงินลงทุนและจากการปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้น

“แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเห็นได้จากเครื่องชี้และดัชนีที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ เริ่มขยายตัวดีขึ้นจึงน่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของสินเชื่อ"

ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเป็น 7.3% จากสิ้นปีก่อนที่ระดับ 4.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาส หลังจากได้ชะลอลงต่ำสุดในไตรมาส 3 ของปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจมีการเร่งตัวเป็นหลักในสัดส่วน 5.5% จากสิ้นปีก่อน 1.5% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวลดลงจากไตรมาสนี้ 13.5% เทียบกับไตรมาสก่อน 16% เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการก่อหนี้มากขึ้น

“แม้ในไตรมาสนี้สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคลดลง แต่เชื่อว่าจะไม่กดดันให้เอ็นพีแอลในระบบสูงขึ้น แม้ค่าครองชีพของประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีเอ็นพีแอลแค่ 23-24%หรือประมาณ 1 ใน 4 ของสินเชื่อรวม จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อโดยรวม ส่วนประเด็นที่ความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะลดลงหรือไม่เป็นเรื่องที่ธปท.กำลังติดตามดูอยู่อย่างใกล้ชิด และต่อไปการขยายตัวสินเชื่อจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย”

ด้านเงินฝากเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% หลังจากสิ้นไตรมาสก่อนชะลอต่ำสุดที่ 0.4% ซึ่งเกิดจากธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งระดมเงินฝาก เพื่อรองรับการขยายตัวสินเชื่อที่เพิ่มมาก และขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีวิวัฒนาการทางการเงินแบบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะตั๋วแลกเงิน ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตั๋วบี/อีแล้วจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.7% ซึ่งปัจจุบันในระบบมียอดคงค้างตั๋วบี/อีทั้งสิ้น 4.7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้สภาพคล่องในระบบยังไม่ตรึงตัวนักเห็นได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 90%

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนกันสำรอง (Gross NPL) มียอดคงค้าง 4.65 แสนล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11,807 ล้านบาท แต่มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงต่อเนื่องจาก 7.3% เหลือ 6.8% ด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีการหักสำรองหนี้เสียแล้ว( Net NPL)มีปริมาณเพิ่มขึ้น 11,662 ล้านบาท แต่สัดส่วนลดลงเหลือ 3.7% จาก 3.9% ในไตรมาสก่อน

โดยสินเชื่อภาคธุรกิจที่มีสัดส่วน 76.4%ของสินเชื่อรวมมีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือ 7.6% โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วน NPL ลดลงเกือบทุกประเภท โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดเหลือ 15% ธุรกิจก่อสร้าง 10.7% พาณิชย์ 6.6% สาธารณูปโภค 2.8% และธุรกิจการเงินลดลงเหลือ 1.4% ยกเว้นธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 11.9% และ 7.4% ตามลำดับ ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนที่ 4.0%

ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio)ของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 14.8% จากสิ้นปีก่อนที่ 14.9% เนื่องจากไตรมาสนี้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ยังนับว่าอยู่ในระดับน่าพอใจ เมื่อเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดไว้ระดับ 8.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น