โกลว์ โชว์ผลดำเนินงาน Q1/51 แข็งแกร่ง โกยกำไรสุทธิ 955 ล้านบาท เซ็งผลกระทบบาทแข็ง ยันแผนการขยายกำลังการผลิตพลังงาน ยังเป็นไปตามกำหนด คาดหลังผ่าน EIA ในเดือน พ.ค.นี้ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้า มั่นใจเซ็นสัญญา EGAT เดือน มิ.ย.ได้สำเร็จ
วันนี้(15 พ.ค.) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW แจ้งผลประกอบการสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2551 โดยมีรายได้รวม 8,179 ล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้และค่าเสื่อม (EBITDA) จำนวน 1,941 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิก่อนรวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ (NNP) จำนวน 955 ล้านบาท
สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ยอดขายจากลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตได้ดี โดยยอดจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่ยอดจำหน่ายไอน้ำก็เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 8 ซึ่งผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาลดลง โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้และค่าเสื่อมลดลงร้อยละ 11 ในขณะที่กำไรสุทธิก่อนรวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ลดลงร้อยละ 13 โดยมีสาเหตุหลักจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 9.5 และการลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าของ กฟภ. ในขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิง(บาท) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยการแข็งค่าของเงินบาทเพียงอย่างเดียวส่งผลต่อกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ กว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ
เมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ (สุทธิ) ภายใต้โครงการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รอบใหม่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีกลุ่มบริษัทโกลว์เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 65 และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เป็นถือหุ้นร้อยละ 35 โดยมีมูลค่าก่อสร้างโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทางบริษัทคาดว่าจะได้รับการอนุมัติ การพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2551 และจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ประมาณกลางปีนี้ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปี 2554
สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมบริษัทเชื่อว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดที่สุดในโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีระดับการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOX) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOX) ที่มีปริมาณต่ำกว่าระดับที่ธนาคารโลกและระเบียบของประเทศไทยกำหนดไว้อย่างมากแล้ว โครงการดังกล่าวยังผ่านเกณฑ์การปล่อยมลสารตามมาตรฐานนานาชาติที่เข้มงวดที่สุดสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเช่นเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะต้องทำสัญญาด้านการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมและคาดว่าจะต้องสมทบทุนในกองทุนราว 100 ล้านบาทต่อปี โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเพิ่มพูนระดับการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น อันได้แก่ การพัฒนาการศึกษา สุขอนามัย การพัฒนาอาชีพ การปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสังคมสำหรับชุมชนโดยรอบนิคมฯ
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศลดระดับการพึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติลง และจะขายไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมซึ่งเป็นไปตามการแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าในระดับนานาชาติ
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันของโกลว์จะยังคงเติบโตต่อไปเพื่อรองรับความต้องการไอน้ำและไฟฟ้าของกลุ่มปิโตรเคมีของไทย ซึ่งบริษัทได้มีการเจรจาตกลงแผนการซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมและ กฟผ.แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์เทียบเท่า และเชื่อมั่นว่าจะสามารถตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้อีกไปประมาณ 100 – 200 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายใน 6 – 12 เดือนข้างหน้านี้ และเพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการดังกล่าว บริษัทจึงมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันอีกประมาณ 380 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะจัดส่งไฟฟ้าและไอน้ำที่มีความมั่นคงสูงให้กับการขยายตัวของโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ของไทย โดยจะทำการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่บริษัทปิโตรเคมีอีกประมาณ 10 – 20 บริษัท
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้าลง (ที่มีอยู่ในปัจจุบัน) เพื่อให้ปริมาณการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOX) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOX) ทั้งปริมาณที่เกิดขึ้นจริงและปริมาณสูงสุด ในมาบตาพุดลดลงต่ำกว่าระดับปัจจุบันภายหลังโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) แห่งใหม่เปิดดำเนินการ อันจะส่งผลให้คุณภาพอากาศโดยรวมของมาบตาพุดดีขึ้น
แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินการของกลุ่มบริษัทและจากการกู้เงินของ บมจ. โกลว์ พลังงาน โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 2551 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนเพียง 0.5 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดไว้ที่ประมาณ 1.0 เท่าอยู่ค่อนข้างมาก โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวได้ ในขณะเดียวกันจะยังคงสามารถรักษาโครงสร้างและระเบียบวินัยทางการเงินได้อย่างดี”
นอกเหนือจากการที่จะสามารถจัดหาเงินมาลงทุนในการขยายกำลังการผลิตแล้ว สำหรับผลประกอบการปี 2550 ทางบริษัทยังสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ถือหุ้นได้อนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผลอีกจำนวน 1.054 บาท / หุ้น ซึ่งเมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลจำนวน 0.60 บาท / หุ้น แล้ว จะมีการจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2550 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 1.654 บาท / หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของกำไรสุทธิก่อนรวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ (NNP) ปี 2550
นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน กล่าวว่า ภายใน 6-12 เดือนข้างหน้านี้ จะสามารถตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้อีกไปประมาณ 100-200 เมกะวัตต์เทียบเท่า จากที่บริษัทได้มีการเจรจาตกลงแผนการซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมและ กฟผ.แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์เทียบเท่า
บริษัทจึงมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันอีกประมาณ 380 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3/54 มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะจัดส่งไฟฟ้าและไอน้ำที่มีความมั่นคงสูงให้กับการขยายตัวของโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ของไทย โดยจะทำการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่บริษัทปิโตรเคมีอีกประมาณ 10-20 บริษัท
สำหรับรายละเอียดของบริษัท โกลว์ พลังงาน เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มโกลว์ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานรายใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,708 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 967 ตันต่อชั่วโมง
กลุ่มบริษัทโกลว์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ภายใต้สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ให้กับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมใกล้เคียง
SUEZ Energy International เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และเป็นสายงานธุรกิจหนึ่งของกลุ่มสุเอซ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการด้านพลังงานระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัดTMBAM เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้รับมอบหมายจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นผู้จัดตั้งและบริหารอิควิตี้อีทีเอฟ (Equity ETF on SET Energy Sector Index) หรือ Equity ETF ที่อ้างอิงดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน ซึ่งจะเริ่มเปิดซื้อขายครั้งแรก (IPO) ภายในเดือน ก.ค.นี้ และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในสัปดาห์ที่ 3
ทั้งนี้กอง Equity ETF มีนโยบายเน้นลงทุนกลุ่มพลังงานจำนวน 9-10 บริษัทแรกของหมวด จากทั้งหมด 24 บริษัท ซึ่งจะเน้นลงทุนเฉพาะหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง ซึ่งประกอบด้วย PTT, PTTEP, TOP, BANPU, IRPC, PTTAR, RATCH, EGCO, GLOW และ ESSO โดยกลุ่มหุ้นดังกล่าวคิดเป็น 97%ของดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน