xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนชี้ Q2 หุ้นญี่ปุ่นฟื้น เยนแข็งดันการบริโภคพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แอสเซทพลัส เผยผู้จัดการกองทุนต่างประเทศมองไตรมาส 2 เศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้น จากผลการแข็งค่าของเงินเยน ช่วยกระตุ้นการก่อสร้างและตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ ให้ขยับตัวเพิ่ม พร้อมยืนยันรูปแบบการลงทุนของกองทุน “แอสเซทพลัสนิปปอนโกรท” เหมือนเดิมที่เน้นหุ้นกลุ่มพลังงาน ทรัพยากร และธุรกิจการเงิน ล่าสุดช้อนหุ้นใหม่เข้าพอร์ต ได้แก่ Fuji Film และ Sumitomo Reality พร้อมปล่อยขาย Toyama Chemical

นายวสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นปรับลดลง ในขณะที่การลงทุนของภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่อัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคและต้นทุนการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสะท้อนความกังวลของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การซื้อเครื่องจักร (Machinery Order) ส่วนใหญ่เป็นคําสั่งซื้อเครื่องกําเนิดไฟฟ้าและเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเพื่อเตรียมการขยายการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในตลาดเกิดใหม่

สำหรับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยราคาในหมวดอาหาร พลังงานและยานพาหนะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาผลผลิตปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและข้าวสาลีที่สูงขึ้นเป็นสําคัญ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลไปถึงต้นทุนการผลิตและส่งผลให้ Profit Margin ของผู้ประกอบการลดลง

นายวสุ กล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (BOJ) ในวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Uncollateralized Overnight Call Rate) ไว้ที่ร้อยละ 0.5 ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และคาดว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมใน ไตรมาส 2 โดยมีความเป็นไปได้ที่ BOJ จะลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในครึ่งปีหลังของปี 2551 หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงซบเซาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ตัวเลข Tankan Report ซึ่งเป็นตัวเลขการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นได้ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11 ในไตรมาส 1 ปี 2551 ซึ่งเทียบกับระดับ 19 ในไตรมาส 4 ปี 2550 และตัวเลขการคาดการณ์ความเชื่อมั่นในอนาคตของไตรมาส 2 และ 3 ปี 2551 ปรับลดลงสู่ระดับ 2 และ 4 ตามลำดับ เทียบกับค่าเฉลี่ยมากกว่า 20 ในปี 2550

ทั้งนี้ นายวสุ กล่าวต่อว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะออกมาไม่ดีนัก แต่ผู้จัดการกองทุนในตลาดญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเห็นว่าตลาดญี่ปุ่นมีระดับราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก โดยมี P/E ratio อยู่ที่ระดับประมาณ 15 เท่าโดยในระยะสั้นยังขาดปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาราคาน้ำมันและวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือซับไพรม์

ส่วน ผู้จัดการกองทุนหลัก (Master Fund) ยังคงมีความเห็นเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเห็นว่า การแข็งค่าอย่างต่อเนี่องของค่าเงินเยนจะช่วยกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่นดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และเชื่อมั่นว่าดัชนี Nikkei 225 จะปรับตัวขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุน บลจ. แอสเซท พลัส กล่าวว่า กองทุนคงเน้นรูปแบบการลงทุนเหมือนเดิม โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยมีการซื้อหุ้นเข้ามาใหม่ 2 ตัว คือ Fuji Film และ Sumitomo Reality และมีการขายหลักทรัพย์ออกไป 1 ตัว คือ Toyama Chemical

สำหรับ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) เป็นกองทุนประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยมีนโยบาย เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nippon Growth Fund ซึ่งบริหารและจัดการโดย BBBSA Strategic Management Limited เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อรวมกันทุกกองทุนไม่เกินวงเงินที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)จัดสรรให้

โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่จดทะเบียนในเกิร์นซี ซึ่งมีนโยบายที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น โดยจะลงทุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ผู้ออกมีการทำธุรกิจในญี่ปุ่น และเป็นกองทุน ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World ซึ่งกองทุนASP-NGF มีมูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง กองทุนนิปปอนโกรท ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3เดือนอยู่ที่ -9.75 เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตราฐานอยู่ที่ -13.04% ส่วนผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -21.25%เทียบกับเกณฑ์มาตราฐานอยู่ที่ -19.07% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ -26.04% เทียบกับเกณฑ์มาตราฐานอยู่ที่ -20.64% และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ -24.69% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตราฐานอยู่ที่ -10.98%
กำลังโหลดความคิดเห็น