xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยลุ้นเฟดหั่นดอกเบี้ย ลดแรงเสียดทานการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทย ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 29 เม.ย.นี้ หวังผลให้เงินไหลเข้าตลาดทุน บวกกับราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงผลักดันให้หุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกในกรอบ 820-853 จุด โบรกเกอร์แนะจับตาประเด็นการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจจะบานปลายจนกดดันตลาดหุ้นไทย พร้อมให้หลีกเลี่ยง "ไออีซี" หลังราคาหุ้นสุดร้อนแรก 5 วันบวกไปแล้วกว่า 50% มูลค่าซื้อขายกว่า 4 พันล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 29 เมษายนนี้ แม้ว่าหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงความคืบหน้าของการพิจารณายุบพรรคการเมือง

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์นี้น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ เพราะน่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยจากความคาดหวังเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีการคาดการณ์ว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เมษายน 51 จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในตลาดการเงินและแก้ปัญหาวิกฤติสินเชื่อที่ลุกลามอยู่ในขณะนี้

ประกอบกับ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 1/51 ของสหรัฐฯ จะเติบโตขึ้น 0.7% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 0.6% ซึ่งจะส่งผลดีต่อจิตวิทยาการลงทุน ขณะเดียวกันให้นักลงทุนติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะจะส่งผลกับบรรยากาศการลงทุนเช่นกัน โดยแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้นกลุ่มธนาคาร

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นได้ แต่คงไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกสนับสนุนการลงทุน โดยในช่วงระหว่างวันที่ 28-30 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีแรงเก็งกำไรเข้ามาจากนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 29 เมษายนนี้ แต่นักลงทุนต้องติดตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลให้ดัชนีเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันได้

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะเก็งกำไรในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) และบมจ. น้ำมันพืชไทย (TVO) รวมทั้งหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 1/51 จะออกมาดี อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) และบมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่กรอบแนวรับ 820 จุด และแนวต้านที่ 850 จุด

ด้านทีมวิเคราะห์ทางเทคนิคและกลยุทธ์การลงทุน บล.ไอร่า รายงานเพิ่มเติมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฐานตลอดสัปดาห์ โดยดัชนีได้ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญบริเวณ 850-860 จุด แต่ไม่สามารถผ่านไปได้ โดยทำจุดสูงสุดไว้ที่ 853.5 จุด ก่อนจะปรับตัวตลอดสัปดาห์ แม้จะมีการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วยหนุนหุ้นบมจ.ปตท. (PTT) และ PTTEP ช่วยผลักดันดัชนีตลาดหุ้นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ปบ้าง หลังจากราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปรับตัวเข้าใกล้บริเวณแนวต้านจิตวิทยา 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้อ่อนตัวลงมา ส่งผลให้หุ้นน้ำมันอ่อนตัวตาม รวมถึงตลาดหุ้นภูมิภาคส่วนใหญ่ก็อ่อนตัวลงหลังจากปรับตัวขึ้นก่อนหน้านี้

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 828-853 จุด เนื่องจากดัชนีดาวน์โจนส์มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันไม่น่าอ่อนตัวลงมากนัก และโอกาสการดีดตัวขึ้นของกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแนวโน้มการเริ่มกลับเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยประเมินว่าหากดัชนียืนเหนือบริเวณ 828-836 จุดได้จะปรับตัวขึ้นทดสอบบริเวณ 853 จุดอีกครั้ง แนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะปรับลง 0.25% จากปัจจุบันที่ 2.25% ในการประชุมวันที่ 29 เมษายน 51 หลังจากนั้นคาดว่าเฟดมีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้อ่อนตัวลง

ขณะที่การปรับขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าภาวะเลวร้ายที่สุดอาจสิ้นสุดลงแล้วสำหรับภาคธนาคาร และหลังจากข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานและการผลิตบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งหากดัชนียังยืนเหนือบริเวณ 12700-12800 จุดได้ คาดว่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยด้วย แต่หากน้ำมันอ่อนตัวลงมากก็จะกดดันหุ้นน้ำมันเช่นกัน

ด้านปัจจัยภายในประเทศปัจจัยที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมืองหลังรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้หลายกลุ่มการเมืองมีการเคลื่อนไหวทั้งที่เห็นด้วยและคัดคาน ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร

*** IEC ร้อนแรงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง โดยราคาปิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 51 คือ 4.14 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.38 บาท คิดเป็น 50% จากราคาปิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 51 ที่ 2.76 บาท โดยปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 4.20 บาท และต่ำสุดที่ 2.80 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 4,406.62 ล้านบาท

ทีมวิเคราะห์ทางเทคนิคและกลยุทธ์การลงทุน บ.ล.ไอร่า ประเมินว่า หุ้นไออีซีปรับตัวเพิ่มขึ้นรับกระแสข่าวการบันทึกข้อตกลงกับจงหยวน กรุ๊ป ประเทศไต้หวัน โดยถือหุ้น 50% ตั้งบริษัทใหม่ทำธุรกิจพลังงาน รวมถึงการที่พอร์ตลงทุนของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 พันล้านบาท จากต้นปีพอร์ตลงทุนแค่ 302 ล้านบาท หลังจากมูลค่าราคาหุ้นในพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้น

"ณ ขณะนี้เราไม่แนะนำให้เข้าไปไล่ซื้อ เนื่องจากสัญญาณทางเทคนิคทั้งระยะสั้น ระยะสั้นมาก ระยะกลางและระยะยาว อยู่ในเขตซื้อมากเกินไปมีโอกาสปรับตัวลงได้ตลอด ยกเว้นมีหุ้นในมือเชิงกลยุทธ์ให้ทยอยขายออกโดยมีแนวต้านบริเวณ 4.2 บาท และแนวต้านถัดไป บริเวณ 5 บาท และ 6 บาท อัตราส่วนการเงิน PE 31.89 PBV 3.04"
กำลังโหลดความคิดเห็น