xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชูส่งออกหนุนปรับจีดีพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท. สวนกระแสราคาน้ำมันพุ่ง ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีเป็น 4.8-6.0% ระบุผลจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี มั่นใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน-ผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 2 จะชะลอตัวลง เหตุราคาสินค้าที่ปรับขึ้นไปมากแล้ว พร้อมปรับสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 93.3 เหรียญต่อบาร์เรล และกรณีเลวร้ายสุดเฉลี่ยทั้งปี 112.6 เหรียญต่อบาร์เรล

น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดประจำเดือนเมษายน ซึ่งในรายงานดังกล่าวกนง.ได้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 4.8-6.0% จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับก่อนที่คาดไว้ที่ระดับ 4.5-6.0% เนื่องจากภาคการส่งออกมีการขยายตัวที่ดีจากการที่ผู้ส่งออกมีการปรับตัวทั้งหาตลาดใหม่และการระบายสินค้าไปหลากหลายสกุลมากขึ้น ประกอบกับมาตรการภาษีของรัฐบาลช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสำหรับนักลงทุนและผู้บริโภคมากขึ้น

โดยกนง.ได้ประมาณการว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.5-16.5% และมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 3.5-6.5% เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้าก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 22.5-25.5% และมีปริมาณการนำเข้าขยายตัว 7-10% ส่งผลให้ดุลการค้าสมดุลหรือขาดดุลไม่เกิน 2,000 ล้านเหรียญ จากเดิมคาดว่าเกินดุล 2,500-4,500 ล้านเหรียญ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,000-7,000 ล้านเหรียญ จากเดิมเกินดุล 4,500-7,500 ล้านเหรียญ และในปีหน้าเชื่อว่าจะมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงวัตถุดิบ หลังจากการลงทุนฟื้นตัวส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,000 ล้านเหรียญหรือเกินดุลไม่เกิน 1,000 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2.5% จากเดิม 1.3-2.3% และในปีหน้าปรับอยู่ที่ระดับ 2-3% จากเดิม 1.5-2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 4.0-5.0% จากเดิม 2.8-4.0% และในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 2.8-4.3% จากเดิม 1.8-3.3% โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปี 93.3 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้แตะที่ระดับ 91 เหรียญต่อบาร์เรล และทรงตัวในระดับ 94 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาสถัดไป ส่วนกรณีเลวร้ายสุดเฉลี่ยทั้งปี 112.6 เหรียญต่อบาร์เรล โดยไตรมาสถัดไปจะสูงขึ้นเป็น 107 113 และ 117 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทั้งนี้ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไปอัตราเงินเฟ้อคงเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากราคาสินค้าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูงสุดแล้วในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนโอกาสที่จะมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดูไบจะแตะที่ระดับ 107 เหรียญต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งกนง.ประเมินว่าเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด ก็มีความเป็นไปได้แค่ 1% เท่านั้น และเชื่อว่าต่อไปภาครัฐเองจะมีมาตรการใหม่ๆ มาช่วยไม่ให้เงินเฟ้อสูงนัก

“อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากในขณะนี้ ซึ่งอาจมีผลให้รายได้ที่ประชาชนได้รับมาเมื่อเทียบกับเงินที่เสียไปจากการซื้อสินค้าแพงขึ้นก็อาจมีผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงได้ ดังนั้น เราต้องดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ และภาครัฐก็ควรมีการกระตุ้นรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลดีต่อการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตามแม้หากในอนาคตภาครัฐจะปรับขึ้นค่าแรงหรือเงินเดือนให้แก่ข้าราชการก็เชื่อว่าต้องมีการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาอย่างดีแล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้เร่งตัวสูงในอนาคต ”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจัยบวกยังคงมาจากภายในประเทศ ส่วนปัจจัยลบเป็นผลจากภายนอกประเทศเป็นสำคัญ โดยปัจจัยแรก คือ ราคาน้ำมันดูไบในตลาดโลกมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะหากผู้ผลิตชะลอกำลังการผลิต การเมืองมีความไม่แน่นอน หรือเกิดการเก็งกำไรในการซื้อขายราคาน้ำมันมาก รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีการชะลอกว่าที่คาดไว้ ปัจจัยที่สอง คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงและราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นจะส่งผ่านต้นทุนการผลิตด้านค่าขนส่ง และทำให้ราคาสินค้าเกษตรได้รับแรงกดดันไปด้วย และก็มีโอกาสเป็นไปด้วยที่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐหรือประเทศอื่นๆ ชะลออุปสงค์มีน้อยแรงกดดันในด้านราคาก็ไม่มากนัก

ปัจจัยที่สาม คือ ผลกระทบของปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์) ในสหรัฐอาจมีความยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาดไว้ก็จะมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยด้วย และปัจจัยที่สี่ คือ แม้ภาครัฐจะนำมาตรการภาษีมาช่วยเศรษฐกิจ แต่หากการเมืองยังไม่มีความไม่แน่นอนอาจเป็นปัจจัยลบเศรษฐกิจไทยได้

สำหรับสถานการณ์ที่ราคาสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์เร่งตัวสูงในขณะนี้ก็เชื่อว่าในปี 2552 ราคาจะปรับตัวลดลงมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงในตลาดโลกก็สูงขึ้นตามราคาโลหะพื้นฐานและวัตถุดิบทางเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน อีกทั้งกนง.ประเมินว่าในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในอีก 3 ครั้งที่เหลือทางเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% ทำให้สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยเฟดจะแตะที่ระดับ 1.50% และทรงตัวไปจนกระทั่งสิ้นปีหน้า และในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ก็ไม่ได้มากนัก

นอกจากนี้ กนง.ยังปรับลดอัตราการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ โดยการอุปโภคขยายตัว 5-6% จากเดิม 6.5-7.5% และการลงทุนภาครัฐเหลือ 6.5-7.5% จากเดิมคาดไว้ 8-9% เนื่องจากมองว่าภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายงบประมาณไปมากแล้ว ทำให้ระยะต่อไปมีการเบิกจ่ายน้อยลง ส่วนภาคเอกชนยังคงขยายตัวเช่นเดียวกับการประมาณการครั้งก่อน คือ การบริโภคเติบโต 4.5-5.5% และการลงทุน 9-10%
กำลังโหลดความคิดเห็น