xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองร้อนป่วนตลาดหุ้น ซับไพรม์ผสมโรง-แนะเก็บของถูกช่วงหุ้นขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยผันผวนต่อเนื่อง บิ๊กบล.กิมเอ็ง คาดการณ์เม.ย.แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 800-860 จุด เหตุปัจจัยการเมืองร้อนระอุ-ซับไพรม์ไม่จบ "นิเวศน์" แนะลงทุนหุ้นเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ รับอานิสงค์สินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เอ็มดี ไทยบีเอ็มเอ ลั่น 5 ปีข้างหน้าจีดีพีไทยโตไม่เกิน 7% ส่งผลเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศอื่นมากกว่า ด้าน "อนุสรณ์" หวั่นการเมืองประทุ สั่งจับตาอีก 2 เดือน

ภาวะการลงทุนตลาดหุ้นไทยวานนี้ (10 เม.ย.) ดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ โดยปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 826.76 จุด ก่อนจะปรับตัวลดลงและปิดที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 820.98 จุด ลดลงจากวันก่อน 5.21 จุด คิดเป็น 0.63% มูลค่าการซื้อขาย 16,785.91 ล้านบาท ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 244.50 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 83.86 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 328.35 ล้านบาท

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยขณะนี้แกว่งในกรอบแคบๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลงไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนกังวลเรื่องเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะกดดันให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพจากปัญหาในเรื่องการยุบพรรค การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุน โดยคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ ดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 800 -860 จุด
ส่วนการประเมินดัชนีทั้งปีนั้น ขณะนี้ประเมินลำบาก หากทุกอย่างมีความเรียบร้อยไม่เกิดความโกลาหลในประเทศ ดัชนีปีนี้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 900-1,000 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศมีการเติบโตที่ การบริโภคมีการฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น

"ปัจจัยที่กระทบต่อตลาดหุ้นมีทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ แต่เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงก็ควรเข้าไปลงทุน และขายทำกำไรเมื่อดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจจะทยอยเข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนจะทำให้มีผลตอบแทนสูงกว่า 10%"

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) กล่าวว่า นับจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จีดีพีของประเทศไทยจะเติบโตได้ไม่เกิน 7% เนื่องจากไทยไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่โดดเด่น บวกกับการเมืองในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นมากกว่า

นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน กล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นนักลงทุนควรเลือกหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากได้รับผลดีจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ แต่หุ้นในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดเล็ก การปรับขึ้นของหุ้นเหล่านี้จึงอาจไม่ช่วยให้ภาพรวมหุ้นทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯปรับขึ้นได้

ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงและกินระยะเวลานาน จึงไม่น่าสนใจลงทุน สวนทางกับปีที่ผ่านมาที่หุ้นพลังงานเป็นตัวหนุนช่วยดึงให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 20% แต่ปีนี้เกรงว่ากำไรหุ้นในกลุ่มนี้อาจจะไม่ดีนัก ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นทั้งปีจึงอาจขึ้นได้ไม่ถึง 10%

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ จนถึงครึ่งแรกของปี 52 อยู่ที่ประมาณ 5-6% ถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีอัตราการเติบโตของการลงทุนประมาณ 10% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าในปีนี้จะขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 1.8% ของจีดีพี และจะเพิ่มเป็ฯ 2.5% ในปีหน้า ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4.5% และมองว่าในปีนี้รัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการอื่นๆ ออกมาอีก

นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ บวกกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเป็นช่วงใกล้หยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักลงทุนขายเพื่อลดความเสี่ยง แม้ตลาดคาดว่ากลุ่มพลังงานจะได้รับผลดี จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (11 มี.ค.) น่าจะแกว่งตัวแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนย้ายไปเล่นหุ้นขนาดเล็กแทน โดยประเมินกรอบแนวต้าน 830 จุด แนวรับ 820 จุด แนะนำนักลงทุนทยอยซื้อสะสมหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ รวมถึงกลุ่มธนาคารที่ได้รับประโยชน์จากยอดสินเชื่อขยายตัว

นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้มีทิศทางอ่อนตัวลงต่อเนื่อง เหตุขาดปัจจัยบวกใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด บวกกับอยู่ในช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะประสบผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปัญหาซับไพรม์ จึงทำให้มีแรงขายลดความเสี่ยงออกมาในตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนเนื่องจากกำลังเข้าสู่วันหยุดยาวช่วงเทศกาล

"นักลงทุนต้องจับตากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงมติสรุปผลการพิจารณาคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากอาจกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน ซึ่งหาก กกต. มีมติยุบพรรคจริง คาดว่าจะส่งผลกระทบในช่วงสั้นๆ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากยังต้องรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอีก โดยประเมินแนวรับที่ 815จุด และแนวต้านที่ 825 จุด"

**จับตา2เดือนการเมืองระอุ**

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้จะได้รับแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า และการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็คงจะมีการฟื้นตัวขึ้นระดับหนึ่งเฉพาะในบางภาคธุรกิจเท่านั้น คงจะไม่ปรับตัวดีขึ้นมานักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่เชื่อว่าบรรยากาศการลงทุนน่าดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตามองในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ เป็นส่วนของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งหากภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ทุกอย่างไม่มีปัญหาตลาดหุ้นไทยน่าจะมีทิศทางที่สดใสพอสมควร

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทในภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะดีขึ้น จากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรส่งออกจะดีขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ก็คงจะทรงตัวเนื่องจากที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นมามากแล้ว และธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ก็คงจะมีผลกำไรไม่มากนักเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น

"ในเรื่องการเมืองนั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีทิศทางไปในทางที่ดี ปัญหาน่าจะน้อยลง โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ถือว่าอัตราการเติบโตเป็นการเติบโตต่ำสุดที่สุดเมื่อเทียบกับทุกไตรมาส แต่อย่างไรก็ตามครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นเพราะแรงกดดันของเงินเฟ้อ น่าจะขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออาจจะขึ้นไปถึง 6% ซึ่งก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นมากพอสมควร ทางเราจึงปรับโดยประมาณการจาก 4 % เป็น 5 - 5.5 % ซึ่งระดับนี้สูงกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก"นายอนุสรณ์กล่าว

สำหรับกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25%นั้น จะส่งผลกระทบต่อปัญหาความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นโดยเฉพาะธปท.จะมีภาระมากขึ้นในการจัดการกับเงินทุนไหลเข้า หากธนาคารกลางสหรัฐฯก้อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50 % ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.50 % และจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ดังนั้น ในการประชุมครั้งต่อไปธปท.น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปเพื่อลดส่วนต่างดังกล่าว

ด้านสมมติฐานสำคัญในการพยากรณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2551 ได้แก่ ผลกระทบที่เกิดจากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สืบเนื่องมาจากปัญหาซัพไพรม รวมถึงปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ ประเด็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่น และการขาดดุลการค้าที่สูง มีการขยายตัวของการนำเข้ามาก ราคาน้ำมันดิบสูงกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ ปัจจัยเหล่านี้จึงมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 4.5 - 5% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อสิ้นปีที่แล้วที่ระดับ 4-5%

"การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ ไตรมาส 2 จะมีอัตราการเติบโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกไตรมาส โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 4 % และคาดว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหากไม่มีปัญหาทางการเมือง ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มส่งผลในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน"นายอนุสรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น