xs
xsm
sm
md
lg

"เคลีสซิ่ง" ปรับกลยุทธรับตลาดขาลง เน้นคุณภาพสินเชื่อ-หวั่นหนี้เน่าพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ"ลีสซิ่ง"นับเป็นธุรกิจที่สดใส ด้วยยอดปล่อยกู้ที่ขยายตัวตามยอดการซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งสนใจเข้ามาร่วมทุน

หากตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ยอดซื้อรถยนต์เริ่มขยายตัวได้น้อย ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิ่งต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งในครั้งนี้ คุณ"อิสระ วงค์รุ่ง"กรรมการผู้จัดการ ลีสซิ่งกสิกรไทย จะเปิดเผยถึงกลยุทธการดำเนินธุรกิจในภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย รวมการเปิดเสรีธุรกิจลีสซิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต

**-ความเห็นต่อการเปิดเสรีธุรกิจลีสซิ่ง**

ผมมองว่าไม่น่าจะกระทบอะไร เพราะการทำธุรกิจลีสซิ่งในไทยค่อนข้างจะมีแบบเฉพาะ ถ้าต่างชาติมาทำแล้วใช้หลักเกณฑ์หรือโมเดลแบบอินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่าไม่เวิร์คแน่ เว้นแต่นายทุนต่างชาติจ้างคนไทยไปทำ แต่ก็ต้องดูว่าระบบการทำงานหรืออำนาจหน้าที่จะเข้ากันได้แค่ไหน หรือถ้าเอามาตรฐานสากลมาครอบคนที่ถูกจ้าง จ้างไปก็ทำงานไม่ได้อยู่ดี โดยลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ 50%ไม่มีเอกสารทางการเงินครบ และ60%ของลูกค้าที่มาขอเช่าซื้อไม่มีใบรับรองจากธนาคาร ซึ่งก็คือส่วนใหญ่ทำอาชีพอิสระ แต่ถ้าไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้ากลุ่มนี้ ตลาดก็จะหายไปกว่าครึ่ง

"ตลาดเช่าซื้อเมืองไทยค่อนข้างลูกทุ่งจะเอามาตรฐานสากลมาจัดคงลำบาก อย่างที่บอกต่างชาติไม่เคยเจอเช่าซื้อแบบ15 นาที ครึ่งชั่วโมงอนุมัติ หรือว่าหลักฐานก็ไม่มีมาก ไม่ครบตามเกณฑ์แต่พิจารณาได้ คือเขามาเขาก็เปิดตำราทำ เช่น จะขอสินเชื่อก็ต้องมีบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน ใบรับรองเงินเดือน ข้อมูลทุกอย่างต้องชัด พอมาเจอแบบเมืองไทยมันทำไม่ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อาชีพอิสระค้าขายทั่วไป รายการหมุนเวียนบัญชีธนาคาร ใบรับรองเงินเดือนทำไม่ได้หรอก ถ้าทำเกษตรกรรมต้องไปดูจากการที่ซื้อที่ดิน ต้องประเมินรายได้เป็นเงินสด หรือถ้าขายข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวก็ต้องมานับจานขายเลย ซึ่งเป็นระบบที่ต่างประเทศไม่คุ้นเคย"

**เป้าหมายธุรกิจในปีนี้**

ก็คงต้องบอกว่า ในด้านของสินเชื่อมีความยากลำบากอยู่พอสมควรสำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนกำไรไม่ค่อยห่างเป้ามาก โดยมีกำไรไตรมาสแรก 26 ล้านบาทจากที่ตั้งไว้ 35 ล้านบาท ส่วนทั้งปีตั้งไว้ 284 ล้านบาท และมีสินเชื่อใหม่ประมาณ 4 หมื่นล้าน ซึ่งมันเป็นการเติบโตเท่าตัวจากปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดโตไม่มาก คาดการณ์กันไว้ว่าตลาดรถยนต์โตไม่ถึง 10% จากปีที่แล้ว การตั้งเป้าสินเชื่อโต 100% จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง ส่วนในปีที่ผ่านมา มีกำไรหลังหักสำรอง 25 ล้านบาท และกำไรก่อนสำรอง 83 ล้านบาท กำไรหลังหักสำรอง 25 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังมีขาดทุนสะสมอยู่ 84 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าหากทำกำไรได้ตามเป้าหรือใกล้เคียงก็น่าจะล้างขาดทุนสะสม

อย่างไรก็ตาม การวัดผลของเคกรุ๊ปจะไม่ได้ให้น้ำหนักที่เรื่องตัวเลขเพียงอย่างเดียว จะกระจายเป็น 5 เรื่องหลัก แต่ละเรื่องมีน้ำหนักเท่าๆกันหมดจากคะแนน 100% ก็มี เรื่องไฟแนนเชี่ยลให้น้ำหนัก 20% เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องการทำงานร่วมกันกับเคกรุ๊ปอีก 20% เรื่องที่ 3 การบริหารจัดการระบบงานภายใน 20 % เรื่องที่ 4 คุณภาพของเครดิต 20% และเรื่องสุดท้ายคือการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องตัวเลขอย่างเดียว อาจจะไม่ได้เต็มเรื่องการเงิน แต่ก็มีส่วนอื่นๆเข้าสนับสนุน ในทางกลับกันหากทำเรื่องการเงินเรื่องตัวเลขได้เต็ม แต่ส่วนอื่นๆแย่ อย่างไม่สนใจกลยุทธรวมของกลุ่มหรือหนี้เสียมาก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี

"ผมจำ 2 อย่างที่ซีอีโอของเคกรุ๊ป(คุณบัณฑูณ ล่ำซำ)มอบหมายมา ผมจำได้ 2 เรื่อง เรื่องที่1 เคลิสซิ่งต้องไปล้อไปกับยุทธศาสตร์ของเคกรุ๊ป และข้อที่ 2 ต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ก็จะเห็นว่าท่านก็ไม่ได้เน้นที่ตัวเลขเลยว่าจะต้องกำไรเท่าไหร่ สินเชื่อกี่หมื่นล้าน แต่ให้ความสำคัญในเรื่องของยุทธศาสตร์ และเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม สินเชื่อกี่หมื่นล้าน หรือกำไรเท่าไหร่เป็นเรื่องรอง นอกจากนี้ ก็จะมีเรื่องของบุคลากรที่ต้องระวัง โดยเฉพาะหากมีการเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำก็จะมีการแย่งซื้อตัวบุคลากรกัน ตรงนี้ก็ต้องรักษาคนของเราไว้ด้วย"

**-แนวโน้มหนี้ที่มีปัญหาของบริษัท**

ตอนนี้ในส่วนของรถยนต์ใหม่1.2% รถยนต์เก่า 3% จากสินเชื่อรวม 24,000 ล้านบาท ก็นับว่าค่อนข้างต่ำและเป็นแนวทางที่เราต้องการ จากตอนนี้รถใหม่เรามี 90%ของพอร์ตรวม แต่เท่าที่ดูแนวโน้มตอนนี้ตัวเอ็นพีแอลก็ขึ้นมาตลอด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี เพราะบ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประชาชนมีภาระหนี้สินเพิ่ม มีกำลังซื้อลดลง ตรงนี้เราถึงต้องคิดให้ดีถ้าจะบุก ถ้าบุกตัวเลขหนี้ตรงนี้ก็ต้องขึ้นมาตาม ยิ่งถ้าค้างงวดหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะค้างต่อไปเป็นงวดที่ 2 หรือ 3 มีมากกว่าที่จะกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดี

"ลูกค้าที่หลุดจากลูกค้าชำระปกติมาเป็นผิดนัดชำระหรือชำระล่าช้าแล้ว จะดึงกลับมายากเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เราก็จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขมากไป เน้นที่คุณภาพ ไม่งั้นความเสี่ยงจะตามมามาก"

ในเรื่องการบริหารความเสี่ยง เคลีสซิ่งใช้ระบบสกอริ่ง ซึ่งระบบที่เซ็ตเองร่วมกับธนาคารกสิกรไทย โดยเราจะให้ข้อมูลลูกค้ากับเคแบงก์ไป แล้วทางเคแบงก์จะเป็นผู้วิเคราะห์ อันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันในเครือ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายรวมของเครือกสิกรไทย ซึ่งขณะนี้พอร์ตรวมของเราก็จะมีส่วนลูกค้าที่ชำระปกติอยู่ประมาณ 85%ได้ ที่เหลือก็เป็นลูกค้าผิดนัดชำระกับเอ็นพีแอล โดยตัวที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนก็เป็นส่วนของลูกค้าผิดนัดชำระ และหากไม่แก้ไขก็กลายเป็นเอ็นพีแอลต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็พยายามการแก้ไขส่วนหนึ่งก็เราพยายามที่พูดคุยกับลูกค้าอยู่เป็นประจำ เพื่อรับทราบและแก้ไขปัญหา อาจจะเป็นการลดวงเงินผ่อนและยืดระยะเวลา เป็นต้น หนี้เสียที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนหรือ 1 ปีแรก แต่พอผ่าน 1 ปีไปแล้วมักจะไม่ค่อยเป็นหนี้เสีย

ส่วนการแก้ไขด้วยการเพิ่มวงเงินดาวน์ ตรงนี้มันก็จะสวนทางกับตลาดที่เขาทำกัน ปัจจุบันมีบางเจ้าดาวน์แค่ 5% ผ่อน 72 เดือนก็มี อันนี้ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น แต่ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้ว ก็จะเป็นดาวน์ที่ 25%ผ่อน 48 เดือน ทีนี้ถ้าบอกว่าจะลดความเสี่ยงลงโดยเพิ่มวงเงินดาวน์ก็ทำได้ แต่ยอดสินเชื่อก็จะลดลง เพราะมันสวนทางกับตลาด

"คือผมก็อยากทำนะเพิ่มวงเงินดาวน์ ความเสี่ยงก็น้อยลง ขาดทุนก็น้อยลง แต่พอไปคุยกับพวกดีลเลอร์แล้ว เขาไม่เอาด้วย เขาว่าคุณจะเอาแต่ของดีๆไม่ได้ แล้วลูกค้าที่ดาวน์ 5% 10% 15%ล่ะจะทำอย่างไร หรือถ้าจะเพิ่มดาวน์ก็ได้ แต่น่าจะให้ดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งเราก็ทำไม่ได้เพราะตอนนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยก็แทบไม่เหลือแล้ว จากดอกเบี้ยรับที่ระดับ 6.9% ดอกเบี้ยจ่าย 4.6% สเปด 2.3% หักค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่างๆอีกก็แทบไม่เหลืออะไรแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะขณะนี้มีการแข่งขันสูง"

แต่อย่างไรก็ตาม เคลีสซิ่งก็จะยังดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ว่ากำไรจะน้อย เหตุผลอย่างแรกเลยก็คือ เคกรุ๊ปต้องการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครบวงจรเพื่อรองรับลูกค้า นอกจากนี้ เช่าซื้อก็สามารถช่วยขยายพอร์ตให้เคกรุ๊ปได้โดยเฉพาะด้านสินทรัพย์ และแม้เราจะมีผลกำไรไม่มากนัก แต่ธุรกิจของเคลีสซิ่งก็สร้างรายได้ให้เครือได้ อย่างเงินทุนที่กู้มาจากเคแบงก์ก็ทำให้เคแบงก์รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ถ้าเคลีสซิ่งกำไร เคกรุ๊ปก็กำไรอีก ขณะเดียวกันเคลีสซิ่งก็บริหารต้นทุนของเงินทุนได้ง่ายขึ้น เรากู้เงินฝาก 1 ปีมาปล่อย 1 ปีเลย ไม่มีความเสี่ยงเรื่องดอกเบี้ยขึ้น-ลง ที่จะเอาเงินฝาก 3 เดือนมาปล่อย 1 ปีหนึ่งอะไรแบบนี้

"ต่อไปนี้โจทย์ใหญ่ในการร่วมมือกับเคกรุ๊ป จะเป็นในส่วนของผู้จัดการความสัมพันธ์รายเดียว คือ ผู้จัดการคนเดียวจะดูแลลูกค้าในทุกๆผลิตภัณฑ์ของเครือ รวมถึงสินเชื่อลีสซิ่งด้วย อีกส่วนการดูแลวิเคราะห์สินเชื่อโดยรวม คือเวลาพิจารณาสินเชื่อจะอยู่ที่เซ็นเตอร์คือเคแบงก์ ไม่ต้องแยกว่าสินเชื่ออะไร ทั้ง 2 อันนี้เป็นส่วนที่เคลีสซิ่งจะต้องรวมกับเคกรุ๊ป ซึ่งจะเริ่มประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ ต่อไปเคลีสซิ่งก็จะดูแลลูกค้ารายย่อยแล้วก็คุยกับดีลเลอร์ โดยเคแบงก์จะดูเฉพาะลูกค้ารายใหญ่"

**มีทิศทางการขยายธุรกิจอย่างไร**

จากพอร์ตสินเชื่อรวม 24,000 ล้านบาท เป็นรถใหม่ 90%รถเก่า 10% ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ว่า ระหว่างรถเก่ากับรถใหม่อันไหนจะกำไรดีกว่ากัน อย่างรถเก่าแม้เอ็นพีแอลจะสูงประมาณ 3% แต่ดอกเบี้ยที่สูงก็สามารถชดเชยในส่วนนี้ได้ ซึ่งหากมันดีกว่า ก็อาจจะมีการขยายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่คงจะเป็นการทยอยเพิ่ม ต้องเทียบดูกับกำไรที่เพิ่มขึ้น กับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นตามมา เพราะเอ็นพีแอลจากจำนวนเต็ม 100% จะเป็นผลขาดทุนประมาณ 30-40% เพราะบางส่วนก็จะตามคืนมาได้ แล้วรถมาขายก็ได้คืน ส่วนที่สูญเสียไปก็ประมาณ 30-40% ดอกเบี้ยรถเก่า 8-9% ใหม่ 6%กว่า ขณะที่ต้นทุน 4%เท่ากัน มันก็น่าทำ แต่ต้องมีความชำนาญในการดูสภาพรถ ไม่งั้นก็จะถูกหลอกได้ง่าย

ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อลีสซิ่งโดยรวมก็น่าจะเป็นไปตามยอดซื้อรถยนต์ที่คาดว่าจะโตประมาณ 10% ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนมากลีสซิ่งต่างๆก็จะตั้งเป้าไว้ในระดับที่สูงกว่ายอดขาย ซึ่งหากพ้นช่วงครึ่งปีแรก ก็คงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆอีกครั้งเพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น