xs
xsm
sm
md
lg

กรมที่ดินคุมเข้ม "หมู่บ้านทั่วกรุง" สาธารณูปโภคทรุดโทรมโดนปรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมที่ดินเข้มโครงการจัดสรรละทิ้งระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการ ปล่อยให้ทรุดโทรม ถนนชำรุด ต้องเร่งแก้ไขภายใน 60-90 วัน พ้นกำหนดโดนปรับรายวันๆละ 1,000 บาท ยอมรับปริมาณจัดตั้งนิติบุคคลปัจจุบันมีแค่ 108 ราย เทียบกับ 5,000 โครงการภายใต้กฎหมายการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีหมู่บ้านจัดสรรทั้งรายเก่าและใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับอนุญาตฯ ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 (ปว.286) และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ของกรมที่ดินไปแล้ว แต่กลับพบว่า หลายรายเมื่อจบการขายแล้ว ไม่สนใจบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้อยู่ในสภาพที่ดีตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้อยู่อาศัยเดือดร้อนและร้องเรียนเข้ามาที่กรมที่ดินเป็นจำนวนมาก

โดยทางกรมที่ดิน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ในโครงการบ้านจัดสรร เฉพาะที่ได้รับอนุญาตในเขตกทม.ว่า มีสภาพดีพร้อมใช้งานหรือไม่ หากพบว่า มีข้อบกพร่อง จะต้องให้เจ้าของโครงการแก้ไขทันที ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้อยู่อาศัย จำนวน 97 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551) ร้องทุกข์มายังกรมที่ดิน ว่า เจ้าของโครงการละเลยไม่บำรุงรักษาสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งพบว่ามีทั้งบริษัทพัฒนาที่ดินรายเล็ก ไปจนถึงบริษัทรายใหญ่

" ปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ ถนนทรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ท่อระบายน้ำที่ฝังตามแนวถนนแตกทำให้น้ำเอ่อล้นผิวถนน ระบบบำบัดน้ำเสียรวมไม่ทำงาน เพราะเกิดจากการประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าของเจ้าของโครงการ ตลอดจนการนำทรัพย์ส่วนกลางไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งในเบื้องต้น คณะทำงานจะลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านตามที่ร้องเรียน โดยร่วมกับสำนักงานที่ดินแต่ละเขต หากพบว่ามีการปล่อยปละละเลยจริง จะทำหนังสือแจ้งต่อเจ้าของโครงการให้แก้ไขภายใน60-90 วัน และหากไม่ดำเนินการตามที่กำหนด จะถูกปรับรายวันๆละ 1,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อย" อธิบดีกรมที่ดินกล่าว

อย่างไรก็ดี มีปัญหาว่า กฎหมายจัดสรรกำหนดบทลงโทษเบาเกินไป ดังนั้น กรมที่ดินจึงพิจารณาแก้ไขเพิ่มโทษปรับ 50,000-100,000 บาท (ตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ระหว่างพิจารณา) เนื่องจากเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ทันทีที่คณะทำงานเข้าไปพบเห็น นอกจากนี้ จะพิจารณาเพิ่มโทษปรับผู้บริหารนิติบุคคลบ้านจัดสรรด้วย ในกรณีที่เจ้าของโครงการยกสาธารณูปโภคให้ผู้อยู่อาศัยดูแล โดยรวมตัวกันตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรขึ้นมา แต่ภายหลังผู้อยู่อาศัยร้องเรียนว่า นิติบุคคลไม่ดูแลสาธารณูปโภคให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จะเข้าข่ายถูกปรับด้วย

สำหรับ สถิติโครงการจัดสรรที่ดินทั้งรายเก่าที่ได้รับอนุญาตจากปว.286 ปี 2515 และ พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เฉพาะในเขตกทม.มีจำนวน กว่า 5,000 โครงการ ( ปี 2515-ปัจจุบัน) และกรมที่ดินได้รวบรวมโครงการเพื่ออยู่ในข่ายตรวจสอบก่อน ตั้งแต่ปี 2538-ปัจจุบัน จำนวน 1,169 โครงการ เนื่องจาก โครงการเก่ามากๆ เจ้าของอาจยกเลิกบริษัท ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้

" มีทางเดียว คือ ผู้อยู่อาศัยต้องรวมตัวกันตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรขึ้นมาดูแล เพื่อเก็บค่าส่วนกลางและนำเงินที่ได้บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไป จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีโครงการบ้านตั้งนิติบุคคลแล้ว 108 ราย ถ้าเทียบกับปริมาณบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นถือว่าน้อยมาก" นายชัยฤกษ์กล่าว พร้อมระบุว่า ทางผู้อยู่อาศัยสามารถขอความช่วยเหลือมาได้ที่สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กรมที่ดิน โทร. 0-2222-6824 และ 0-2222-3271

นายอิสระ บุญยัง อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการของกรมที่ดินขึ้นมา เพื่อดูแลโครงการจัดสรรต่างๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทางผู้ประกอบการทุกๆโครงการพร้อมและต้องการจัดตั้ง เพียงแต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เช่น ตามพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ระบุว่า ทางผู้จัดสรรต้องสมทบเงินจัดตั้งนิติบุคคลประมาณ 7% ซึ่งบางโครงการผู้ซื้อก็คิดว่าเหมาะสม แต่บางแห่งลูกค้าคิดว่าทางผู้จัดสรรยังสมทบเงินน้อยเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น