สุราษฎร์ธานี- “รมต.ประจำสำนักนายกฯ” ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี ติดตามงานคุ้มครองผู้บริโภค พบบรรดาพ่อค้า แม่ค้า ใช้ภาชนะมีสารตะกั่วผสมมากที่สุด สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการแก้ไข เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
วันนี้ (27 มี.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี” เพื่อให้ความรู้แก่หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนใน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ให้ความสนใจ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จำนวน 350 คน เพื่อป้องกันถูกผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับกองบังคับการทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงานตรวจสอบฉลากสินค้า ที่ควบคุมฉลาก ตรวจสอบการโฆษณา สัญญา และหลักฐานการรับเงินของสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี
ปรากฏว่า มีการดำเนินการไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่น่าห่วงมากที่สุด พบว่า ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ใช้ภาชนะอันตราย ที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อหม้อต้มก๋วยเตี๋ยว ถังไอศกรีม กระบวย และหม้อต้มกาแฟ เป็นจำนวนมาก ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากพิษสารตะกั่ว และประสานให้พ่อค้า แม่ค้าเปลี่ยนมาใช้ภาชนะปลอดสารตะกั่ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25-26 มีนาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับกองบังคับการทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงานตรวจสอบฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตรวจสอบการโฆษณา ตรวจสอบสัญญา และหลักฐานการรับเงินของ จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า ฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ตรวจสอบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ร้านค้าท้องถิ่น จำนวน 18 แห่ง ตรวจฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก จำนวน 4,639 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสินค้าประเภททั่วไป จำพวก เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เมลามีน ข้าวสารบรรจุถุง เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า รองเท้า และเครื่องเขียน เป็นต้น พบว่า ถูกต้อง 4,038 ตัวอย่าง ไม่ถูกต้อง 601 ตัวอย่าง
สินค้าทองรูปพรรณ จำนวน 28 แห่ง ปฏิบัติถูกต้อง 23 แห่ง ไม่ถูกต้อง 5 แห่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตรวจสอบการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาที่จัดให้มีการให้สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า เสี่ยงโชค ชิงรางวัล ส่วนป้ายโฆษณา ตรวจสอบทั้งหมด 16 ป้าย พบว่า ปฏิบัติถูกต้องทั้งหมด
การโฆษณาขายที่ดิน พร้อมทั้งอาคาร ตรวจสอบโครงการหมู่บ้านจัดสรร ทางสื่อแผ่นพับ 9 โครงการ ไม่ถูกต้อง 6 แห่ง โดยไม่ระบุตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินจัดสรร เลขที่ของใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน และเดือน ปี ที่เริ่มต้นก่อสร้าง ตรวจสอบโครงการหมู่บ้านจัดสรร ทางสื่อป้ายโฆษณา จำนวน 13 โครงการ รวมทั้งหมด 32 ป้าย ปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 12 โครงการ ถูกต้อง 1 โครงการ
กรณีใช้ข้อความโฆษณาไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นนิติบุคคลกรรมการผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท ต้องรับโทษความผิดนั้นด้วย