ประธานธนาคารโลกเตือน ทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะราคาอาหารแพงอีกหลายปี ขณะที่มีการวิเคราะห์จากธนาคารโลกว่า การที่ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม ซึ่งราคาข้าวเพิ่มขึ้นจะยิ่งสร้างปัญหาด้านเงินเฟ้อในแต่ละประเทศ หากรัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการคุมราคาอาหาร อาจเสี่ยงภาวะสินค้าขาดแคลน-เงินเฟ้อคุมไม่อยู่ ทั้งนี้ หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อควบคุมการส่งออกข้าวแล้ว
วันนี้ (8 เม.ย.) นายโรเบิร์ต โซลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐ โดยระบุว่า ธนาคารโลกมองว่าราคาอาหารทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดปีนี้และปีหน้า จากนั้นจึงจะค่อยๆ ปรับลดลง เนื่องจากความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความนิยมใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากธัญพืชเป็นพลังงานทางเลือก โดยธนาคารโลกจะเผยแพร่รายละเอียดของการคาดการณ์ ภายในวันนี้
แนวโน้มราคาอาหารที่แพงขึ้นเป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสสำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยด้านหนึ่ง ประชาชนในประเทศเหล่านั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความอดอยากเพราะไม่มีเงินพอซื้ออาหาร แต่อีกด้านหนึ่ง ภาคการเกษตรของประเทศเหล่านั้นกลับจะได้ประโยชน์จากภาวะอาหารแพงทั่วโลก
ประธานธนาคารโลก เตือนด้วยว่า การกดดันประเทศที่เศรษฐกิจกำลังก้าวหน้าอย่างเช่นจีนและอินเดีย ให้พัฒนาเทคโนโยลีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ควรเน้นที่การพัฒนามากกว่า
นายดอน มิตเชลล์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก เตือนว่า รัฐบาลต้องเน้นการแก้ปัญหาลงไปเฉพาะจุดที่ไม่ใช่มาตรการโดยรวม เช่นการอุดหนุนราคาให้กับคนยากจนโดยตรง ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากกว่าการควบคุมราคาทั้งตลาด
นอกจากนั้นแล้ว นักเศรษฐ ศาสตร์รายอื่นๆ ยังเตือนด้วยว่า การควบคุมราคาสินค้า และการเข้าแทรกแซงราคาโดยรัฐบาลจะทำให้กลไกของตลาดถูกบิดเบือน เนื่องจากสินค้าประเภทนั้นๆ จะมีจำนวนลดลงในตลาดอย่างฮวบฮาบ เนื่องจากการควบคุมราคาทำให้แรงจูงใจในการผลิตลดลง
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญต่างมีความเห็นว่า การใช้มาตรการควบคุมราคาอาหารจะเห็นผลในการควบคุมเงินเฟ้อก็ต่อเมื่อการ ใช้จ่ายสินค้าประเภทอาหารของครัวเรือนในประเทศนั้นๆ มีสัดส่วนน้อยกว่าการใช้จ่ายประเภทอื่นๆ หรือรัฐบาลก็จะต้องใช้มาตรการ เข้าควบคุมราคาสินค้าในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
**เตือนรัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการคุมราคาอาหาร เสี่ยงภาวะสินค้าขาดแคลน-เงินเฟ้อคุมไม่อยู่
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเตือนว่า ในขณะที่ราคาอาหารในหลายประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้นนั้น รัฐบาลหลายชาติต่างเตรียมใช้มาตรการควบคุมราคาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลแต่อย่างใด หนำซ้ำยังอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในทิศทางตรงกันข้ามอย่างรุนแรง
รายงานดังกล่าว ยังได้ยกตัวอย่างของ ประเทศเปรู ในช่วงปี 1985 ที่ประธานาธิบดี อลัน การ์เซีย ได้ประกาศควบคุมราคาสินค้าหลายรายการทั้งข้าว น้ำตาล และสินค้าอื่นๆ ทว่ามาตรการดังกล่าวได้กลับก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง และเกิดการซื้อขายสินค้าในตลาดมืดในราคาที่สูงมากและเกินจริง จนในที่สุด เปรูก็เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อในระดับที่ควบคุม ได้ยาก
รายงานระบุอีกว่า ในขณะนี้ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาราคาสินค้าแพง และได้เริ่มควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ โดยไทยเริ่มคุมราคาสินค้าประเภท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำมันสำหรับทำอาหาร
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการข้าวในแต่ละประเทศเริ่มสูงขึ้น แต่ละประเทศจึงต้องลดปริมาณการส่งออกเพื่อควบคุมปริมาณและราคาข้าวไม่ให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งหลายประเทศเริ่มหวาดระแวงว่าหากปล่อยให้ราคาข้าวสูงขึ้นและเกิดภาวะขาดแคลนข้าวมากขึ้นจะส่งผลเสียต่อปัญหาสังคม และเกิดวิกฤตการณ์จนยากที่จะแก้ไข โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และจีน
ล่าสุด สมาคมอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลได้สั่งให้มีการควบคุมปริมาณการส่งออกและราคาข้าว โดยรัฐบาลได้เข้าแทรกแซงการขายข้าวในพื้นที่ที่ประชากรมีฐานะยากจนในราคา 18.50 เปโซต่อกิโลกรัม จากปรกติที่ขายในราคาสูงถึง 35 เปโซต่อกิโลกรัม
ส่วนที่ประเทศจีนมีรายงานว่า จีนต้องลดปริมาณการผลิตข้าวหลังจากพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 19.4 ล้านเฮกตาร์ คาดว่าปริมาณการผลิตข้าวในจีนจะลดลงและทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงและมีผลต่อปัญหาสังคมของจีน เนื่องจากจีนมีจำนวนประชากรอยู่ในระดับยากจนที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาข้าวและอาหารอื่นๆเพิ่มขึ้น
ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุน โกลด์แมน แซคส์ เชื่อว่าการที่ราคาข้าวสูงขึ้นจะมีผลทำให้การลงทุนในตลาดสินค้าการเกษตรล่วงหน้าผันผวน เพราะจะมีการเก็งกำไรในตลาด โดยเฉพาะราคาข้าว ข้าวโพด และธัญพืชชนิดอื่นๆ ยกเว้นน้ำตาล เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าปริมาณความต้องการข้าวและธัญพืชอื่นๆที่นำมารับประทานจะเพิ่มขึ้น 2.6% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% ทุกปีในช่วงเวลา 10 ปีต่อจากนี้ไป ในเวลาเดียวกันองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าปริมาณคลังสำรองข้าวทั่วโลกจะลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1980 เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวลดการส่งออก 3.5% ซึ่งซัพพลายในตลาดข้าวที่ลดลงทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดสินค้าการเกษตรล่วงหน้า เป็นผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นผิดปรกติ
สำหรับปริมาณความต้องการข้าวในแต่ละประเทศ สหประชาชาติเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ในปีนี้ หรืออยู่ที่ 422.5 ล้านตัน ในเวลาเดียวกันปริมาณการผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 1% หรือ 422.9 ล้านตัน
บริษัทเงินทุน มาเธอร์ เอิร์ธ อินเวสต์เมนต์ แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นอีกใน 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนแห่งนี้ตั้งกองทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในตลาดซื้อขายธัญพืชล่วงหน้าซึ่งรวมถึงข้าวที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น บริษัทเงินทุนมาเธอร์ฯเชื่อว่าหลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการควบคุมราคาข้าวในประเทศ และแก้ไขปัญหาซัพพลายข้าวขาดแคลน โดยการควบคุมการส่งออกข้าว
ผลการสำรวจพบว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างเวียดนามได้สั่งห้ามไม่ให้ผู้ส่งออกข้าวงดการส่งออกข้าวไปต่างประเทศนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป โดยการส่งออกข้าวในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องทำสัญญาการส่งออกตั้งแต่เดือนเมษายน และนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเวียดนามลดการส่งออกข้าว 11% หรือคิดเป็นจำนวน 4 ล้านตัน
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นอันดับสามของโลก รองจากไทยและอินเดีย ส่วนจีนได้ประกาศเพิ่มภาษีการส่งออกข้าวเป็น 5% นับตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา และอียิปต์ห้ามการส่งออกข้าวนับตั้งแต่เวลานี้ถึงเดือน ต.ค.ปีนี้
นักวิเคราะห์บริษัทโปรเกรสซีฟ ฟาร์ม มาร์เกตติ้ง วิเคราะห์ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลกรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก แต่เวลานี้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น 2% อยู่ที่ 20.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 100 ปอนด์ เป็นราคาที่สูงขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าของปี 2001 และนักวิเคราะห์คาดว่าราคาข้าวอาจจะสูงถึงระดับ 22 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 100 ปอนด์ภายในเดือน พ.ย.ปีนี้ เช่นกัน