รมว.คลังสหรัฐ เตรียมเสนอแผนกู้วิกฤติฉบับใหม่ ต่อสภาคองเกรส จันทร์ที่ 31 มี.ค.นี้ ยกเครื่องระบบกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงินในปท.ทั้งระบบใหม่ "เฟด" เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เข้าระบบการเงิน เม.ย.นี้ เพื่ออุ้มแบงก์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง พร้อมปรับแผนใหม่ เลิกใช้นโยบายหั่นดอกเบี้ยแก้ปัญหา หลังประเมินว่า เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล เตรียมใช้การซื้อหนี้เน่าแทน
วันนี้(30 มี.ค.) สำนักข่าวเอพี รายงานว่า คณะบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เตรียมเสนอแผนการปรับปรุงการกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เด่นชัดขึ้นภายหลังจากเกิดวิกฤติสินเชื่อ
โดยแผนการใหม่นี้จะมอบอำนาจใหม่ๆ ให้กับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงินที่สำคัญที่สุด ด้วยการขยายขีดความสามารถในการตรวจสอบทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน ไม่ใช่เพียงแค่การตรวจสอบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า แผนการดังกล่าวจะถูกเสนออย่างเป็นทางการในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ ในวันจันทร์ที่ 31 มี.ค.นี้
โดยก่อนหน้านี้ เฟด ได้ออกประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ธนาคารจะเพิ่มวงเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรงผ่านวิธีการประมูลอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายนนี้ นับเป็นความพยายามล่าสุดของเฟดในการต่อสู้กับผลพวงของวิกฤติสินเชื่อ
ทั้งนี้ เฟด ได้ระบุในแถลงการณ์ว่า เฟดจะกำหนดวงเงินกู้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการประมูล 2 ครั้งในวันที่ 7 และ 21 เม.ย.นี้
สำนักข่าวเอพี ยังรายงานเพิ่มเติมว่า จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เฟดได้ปล่อยเงินกู้ระยะสั้นผ่านวิธีการประมูลให้กับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว 2.6 แสนล้านดอลลาร์ เพื่ออุ้มธนาคารแบร์ สเติร์น
โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ประกาศเพิ่มวงเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรงผ่านวิธีการประมูลอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธนาคาร 2 แห่ง ที่ตกอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย เพราะขาดสภาพคล่องร้ายแรง โดยทางเฟดกำหนดวงเงินกู้เพื่อการนี้ไว้ 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อธนาคาร และกำหนดจะเริ่มดำเนินกรรมวิธีดังกล่าวในวันที่ 7 เม.ย. และ 21 เม.ย. ตามลำดับ
การปล่อยกู้เพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะผ่านวิธีการประมูลดังกล่าวซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในกรณีที่เฟดเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อสถาบันการเงินใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกาอย่าง แบร์สเติร์น โดยในช่วงระยะเวลาจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เฟด ใช้เงินเพื่อป้องกันการล้มของแบร์สเติร์นไปแล้วราว 260,000 ล้านดอลลาร์ ในรูปของการปล่อยกู้ระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ผ่านวิธีการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขวิกฤตสินเชื่อที่กำลังดำเนินอยู่และร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้
นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวแล้ว เฟดยังประกาศใช้ข้อบังคับพิเศษที่เคยใช้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยซึ่งรวมทั้งการปล่อยกู้โดยตรงให้กับธนาคารเพื่อการลงทุน หรือธนาคารวาณิชธนกิจด้วย โดยทั่วไปแล้วเฟดปล่อยกู้โดยตรงแต่กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ต่อเข้มงวดมากกว่าธนาคารเพื่อการลงทุนมาก
นักเศรษฐศาสตร์เอกชนยอมรับว่า การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การปล่อยกู้และการตั้งวงเงินปล่อยกู้เพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะผ่านการประมูลนั้นส่งผลกระทบในทางบวกต่อตลาดสินเชื่อ เพราะไปช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดการขาดสภาพคล่องร้ายแรงต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกาขึ้นอีก อย่างไรก็ตามปัญหาในตลาดสินเชื่อยังคงมีปัญหาหนักหน่วงและต่อเนื่องอยู่ต่อไป เพราะกรรมวิธีดังกล่าวไม่ได้แก้ไขต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นอกจากนั้น เฟดยังถูกโจมตีด้วยว่า นำเงินทุนจากภาษีอากรของประชาชนมาใช้เพื่อช่วยเหลือบริษัทสถาบันการเงินและธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ที่ปล่อยกู้อย่างประมาท หละหลวมจนก่อปัญหารุนแรงอย่างที่เป็นอยู่
นายบิลล์ กรอสส์ กรรมการผู้จัดการกองทุนแฟซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมนเนจเมนต์ กองทุนเพื่อลงทุนในตลาดพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชี้ว่า เฟด อาจปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาสินเชื่อใหม่ในเร็วๆนี้ หลังจากประกาศลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องมาถึง 3%แล้วยังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดคิดกับธนาคารและธนาคารนำไปคิดกับลูกค้านั้นยังต่างกันมากถึง 1.69% อยู่ในเวลานี้
โดยนักวิเคราะห์หลายคน เชื่อว่าเครื่องมือสุดท้ายที่เหลืออยู่ของเฟดก็คือ การเข้าไปซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องการันตีการปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา ทั้งนี้การเข้าไปซื้อหนี้สินบางส่วนดังกล่าวจะเป็นการดึงปัญหาออกมาจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ โดยตรงซึ่งน่าจะบรรเทาปัญหาสินเชื่อให้คลายจากระดับวิกฤตได้
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาแถลงในวันเดียวกันถึงดัชนีผู้บริโภค (เครื่องชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค) ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ขยายตัวเพียง 0.1% ลดลงจากระดับ 0.4% เมื่อเดือน ม.ค.ก่อนหน้านี้ และอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในระดับวิกฤตต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีอีกด้วย