xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.นำเข้าน้ำมันเตา 110 ล้านลิตร รับมือก๊าซผลิตไฟฟ้าขัดข้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.เตรียมนำเข้าน้ำมันเตา 110 ล้านลิตร สำรองฉุกเฉิน-รับมือปัญหาระบบก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ผลิตไฟฟ้า แหล่งอาทิตย์-เยนตากุนในพม่า ขัดข้อง ส่วนที่เหลือได้จากไทยออยล์และบางจาก พร้อมเลื่อนซ่อมท่อก๊าซพม่าออกไปเป็นไตรมาส 4 ขณะที่ รมว.พลังงาน ยืนยันไม่มีปัญหาไฟฟ้าตก-ไฟดับ และไม่กระทบค่าไฟฟ้าเอฟที

วันนี้(4 เม.ย.) นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิงพลังงาน เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงปัญหาการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพม่าและโครงการอาทิตย์ขัดข้อง ว่า ปตท.ได้เลื่อนการซ่อมบำรุงท่อก๊าซพม่าออกไปจากกำหนดเดิมวันที่ 10-20 เม.ย.ไปเป็นไตรมาส 4 แทน เพื่อไม่ให้มีปัญหาการผลิตไฟในช่วงหน้าร้อนนี้ และ ปตท.ยังเตรียมนำเข้าน้ำมันเตาอีก 110 ล้านลิตร โดยจะแบ่งเป็น 2 ลอต ลอตแรกจะนำเข้าจากสิงคโปร์ 40 ล้านลิตร คาดว่าจะนำเข้าได้ในวันที่ 9 เม.ย. และลอต 2 จะนำเข้าในวันที่ 17 เม.ย.อีก 70 ล้านลิตร ส่วนนี้กำลังพิจารณาแหล่งอาจจะเป็นสิงคโปร์หรือมาเลเซีย

สำหรับระบบท่อส่งก๊าซแหล่งเยตากุน ประเทศพม่า ที่ขัดข้องจนทำให้ไม่สามารถจ่ายก๊าซได้ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น สรุปแล้วจะต้องใช้น้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟแทน 10 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อรวมกับแหล่งอาทิตย์ที่ป้อนก๊าซฯ ไม่เป็นไปตามกำหนดโดยขาดไป 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนนี้จะต้องใช้น้ำมันเตาอีก 3 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น ได้ประเมินการใช้น้ำมันเตารวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 146 ล้านลิตร โดยจะแบ่งเป็นการนำเข้า 110 ล้านลิตร และก่อนที่จะนำเข้าจะมีการหารือผู้ผลิตในประเทศ คือ ไทยออยล์จะป้อนให้ 30 ล้านลิตร โดยจะส่งได้วันที่ 6 เม.ย. และจากบางจากอีก 20 ล้านลิตร

นายณอคุณ กล่าวว่า การใช้น้ำมันเตา 146 ล้านลิตรประเมินจากการที่ท่อก๊าซพม่าจะมีการเร่งแก้ไขปัญหาท่อก๊าซรั่วที่ต้องอาศัยเวลาประมาณ 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. ดังนั้น ประมาณวันที่ 12 เม.ย. ก็น่าจะกลับมาผลิตได้ตามเดิม ขณะที่แหล่งอาทิตย์จะป้อนก๊าซได้เต็มที่ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 16 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ภาระที่เกิดขึ้นหากคิดเป็นมูลค่าคงจะยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะจะต้องดูราคานำเข้าก่อน

รัฐมนตรีพลังงานได้กำชับว่าจะไม่ผลักภาระให้กับประชาชนในการคิดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ซึ่งหากพิจารณาตามสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วเมื่อผู้ขายก๊าซ คือ ปตท.ไม่สามารถจัดส่งก๊าซให้กับผู้ซื้อได้ตามกำหนดก็จะต้องรับผิดชอบ” นายณอคุณ กล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ได้สั่งการให้ ปตท. รับผิดชอบกับปัญหาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าขัดข้อง โดยให้สำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลไว้ใช้แทนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไป สำหรับการผลิตไฟฟ้าในฤดูร้อนปีนี้ให้เพียงพอ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ทำ ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีในงวดเดือน มิ.ย. หลังมีการใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะพยายามดูแลไม่ให้มีการผลักภาระไปให้กับประชาชนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ ได้ขอให้ ปตท.ได้เร่งนำเข้าน้ำมันเตาจากประเทศมาเลเซียในปริมาณ 10 ล้านลิตร/วัน มาสำรองไว้ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับ ปตท.ได้เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงชั่วคราวท่อก๊าซธรรมชาติในพม่าออกไปอีกระยะหนึ่ง จากเดิมจะต้องปิดซ่อมระหว่างวันที่ 11-20 เม.ย.นี้ ออกไปอีก 1 ปี และล่าสุด บริษัท ปิโตรนาส จำกัด ซึ่งได้สิทธิในสัมปทานขุดเจาะในแหล่งก๊าซธรรมชาติเยตากุนที่รั่วครั้งนี้ ได้แจ้งให้ ปตท.ทราบว่าจะซ่อมแซมท่อในส่วนที่รั่วให้แล้วเสร็จ และพร้อมส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้กับ ปตท.ได้ภายใน 5 วัน นับจากนี้

"ขณะนี้ ดิฉันได้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และจะต้องไม่ผลักภาระให้กับประ-ชาชน แม้จะต้องใช้น้ำมันที่มีต้นทุนสูงกว่าก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าก็ตาม ซึ่งยังมั่นใจว่าจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น มาอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ น่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เดิมคาดว่าจากปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติในพม่าจะมีผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นถึง 6 สต./หน่วยลงไปได้ เพราะเดิมเราตั้งสมมุติฐานค่าบาทในการคำนวณค่าเอฟทีที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปรากฏว่าค่าบาทแข็งค่าขึ้นมาก จึงมาตั้งสมมุติฐานใหม่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงจะลดภาระค่าเอฟทีที่ต้องเพิ่มขึ้น โดยทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเอฟทีต้องปรับขึ้นลดลงทันที 3 สตางค์ต่อหน่วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น