xs
xsm
sm
md
lg

ท่อก๊าซ ปตท.รั่วซ้ำซาก ผู้บริหารฯ กฟผ.จี้หาคนรับผิดชอบความเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่อก๊าซ ปตท.รั่วซ้ำซาก ผู้บริหารฯ ยันกระทบการผลิตไฟฟ้า และรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีแค่ระยะสั้น ขณะที่ กฟผ.จี้หาผู้รับผิดชอบความเสียหาย พร้อมยืนยัน กระทบค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.แน่นอน เพราะต้องหันไปใช้น้ำมันในการผลิตไฟแทน ขณะที่แหล่งผลิตอาทิตย์ของ ปตท.สผ.ก็ยังไม่มีกำหนด

วันนี้(3 เม.ย.) นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาท่อส่งก๊าซในพม่ารั่วซ้ำ โดยระบุว่า ขณะนี้ระบบการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุน ในฝั่งพม่าเกิดขัดข้องทำให้การส่งก๊าซธรรมชาติทางฝั่งตะวันตก ซึ่งปกติมีความสามารถส่งก๊าซฯ ประมาณ 1,160 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จาก 2 แหล่งในพม่าคือแหล่งเยตากุน 460 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กับแหล่งยานาดา 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ต้องหยุดจ่ายก๊าซฯ ลงชั่วคราวตั้งแต่เช้าวันที่ 2 เม.ย.51

ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย หรือเปโตรนาส (Petronas) ซึ่งเป็น operator ของแหล่งเยตากุนแจ้งว่าสาเหตุของการขัดข้องของระบบท่อส่งก๊าซฯ แหล่งเยตากุนเกิดจากการเกิดรอยแตก 2 แห่งบนท่อส่งก๊าซฯ บนบกในพม่าใกล้พรมแดนไทย-พม่า ซึ่ง Petronas กำลังหาสาเหตุและแก้ไข โดยขณะนี้ ปตท.ได้เข้าไปประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ระบบท่อส่งก๊าซฯ เยตากุนกลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

นอกจากนั้น เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปตท.ได้ประสานงานกับ กฟผ.เพื่อจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งยาดานา สำหรับใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน รวมทั้งลดการใช้ก๊าซฯ ของโรงแยกก๊าซฯ ปตท.ในปริมาณ 80 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกที่ลดลง โดยที่ กฟผ.จะใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติส่วนที่ขาดไป ซึ่ง ปตท.ได้เตรียมสำรองปริมาณน้ำมันทั้ง 2 ชนิดให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในช่วงนี้ได้

นายจิตรพงษ์ กล่าวด้วยว่า จากการที่ระบบส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนฝั่งพม่าขัดข้อง ทำให้ ปตท.ต้องบริหารจัดการระบบการส่งก๊าซฯในฝั่งตะวันตก โดยการส่งก๊าซฯ จากแหล่งยานาดา ซึ่งมีค่าความร้อนต่ำลงเล็กน้อย ดังนั้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในขบวนการผลิต รวมถึงในภาคยานยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี (NGV) เป็นเชื้อเพลิงในระยะสั้น จนกว่าระบบส่งก๊าซฯ เยตากุนจะซ่อมแซมแล้วเสร็จ

นายอภิชาติ ดิลกโสภณ รองผู้ว่าการ กฟผ. แสดงความกังวลว่า ปัญหานี้คงจะไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาแหล่งอาทิตย์ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ที่อาจจัดส่งก๊าซฯเข้าระบบล่าช้า เพราะจะมีการเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงท่อก๊าซในพม่าออกไป ขณะที่ กฟผ.ก็จะมีการบริหารการใช้เชื้อเพลิงให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน ส่วนเรื่องจะให้ใครความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงานคงจะมีการหารือกับ ปตท.

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. ยอมรับว่า เมื่อช่วงคืนวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุกับแหล่งก๊าซเยตากุน จากสหภาพพม่า ที่มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ก๊าซฯเกิดการรั่วไหล ไม่สามารถส่งเข้าระบบท่อได้ ในขณะที่แหล่งยาดานากำลังการผลิตกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ยังสามารถจ่ายก๊าซฯได้ตามปกติ

"ตอนนี้ คงไม่สามารถตอบได้ว่าจะซ่อมให้แล้วเสร็จได้เมื่อไร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซป้อนมายังโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ได้เพียงพอทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวอาจจะต้องลดกำลังการผลิตลงมา" นายมารุตกล่าว

ขณะที่ นายอภิชาต ดิลกโสภณ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ กฟผ. กล่าวว่า ได้ประสานงานไปยัง ปตท. เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของกฟผ.เองก็ได้สั่งให้โรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ สำรองน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อไม่ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้ามีปัญหา

แหล่งข่าวจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางฟผ.ได้สั่งการให้โรงไฟฟ้าราชบุรี ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงครึ่งหนึ่ง จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ 3,645 เมกะวัตต์ เนื่องจากปริมาณก๊าซที่มาจากพม่าไม่เพียงพอ ทำให้ต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซลผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งได้เตรียมการสำรองน้ำมันเตาไว้ที่ 64 ล้านลิตร ซึ่งจะเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าได้ 5 วัน และสำรองน้ำมันดีเซลไว้ 17.3 ล้านลิตร สำหรับการผลิตไฟฟ้าได้ 3 วัน โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีจะพยายามใช้น้ำมันดีเซลให้น้อยที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนแพง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าใช้แทนก๊าซฯนี้จะส่งผลให้ค่าเอฟทีในเดือนมิ.ย.ถึง ก.ย.นี้ ปรับสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งยังไม่รวมถึงการนำน้ำมันเตาและดีเซลผลิตไฟฟ้าใช้ในช่วงแหล่งก๊าซพม่าหยุดซ่อมบำรุงในช่วงวันที่ 11-20 เม.ย.นี้ ทำให้นโยบายการตรึงค่าเอฟทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันไร้ผล และผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระดังกล่าวอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น