xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชงกม.แก้หนี้บัตรเครดิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.เตรียมเสนอ 3 ร่างกฎหมาย แก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต “กรณ์” ฟื้นร่างกฎหมายทวงหนี้ของ สนช. ให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาตามทวงหนี้ผ่านองค์กรอิสระ กำหนดให้บริษัทรับทวงหนี้ขึ้นทะเบียนกับแบงก์ชาติ และทำการทวงหนี้ได้แค่วันละ ครั้ง ด้าน “พีระพันธุ์” ดันกฎหมายบัตรเครดิตออกมาตรการคุมเข้มการให้บัตรเครดิต

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังประสบปัญหาการเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก ซึ่งพบว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาปัญหาได้ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ จากระดับชนชั้นกลางไปสู่ชนชั้นรากหญ้า ยังมีหนี้ส่วนบุคคลอีกจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ควรได้รับการเยียวยา และสร้างมาตรฐานความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐในการควบคุมกฎหมาย ผู้ประกอบการในการมีวินัย ธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ และประชาชนที่ขาดความรู้ ขาดวินัยในการกู้ยืมเงิน ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ดังนั้นตนจะรื้อฟื้นร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรมที่คณะกรรมาธิการการคลัง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยเสนอไว้ ต่อที่ประชุมสภาอีกครั้ง

"มีประชาชนได้ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมของสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อหาหลักของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย จัดให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลลูกหนี้โดยตรง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถร้อนเรียนเวลาที่มีปัญหาเกี่ยวกับกานทวงถามหนี้ได้ โดยบริษัททวงหนี้จะต้องลงทะเบียนกับแบงก์ชาติ และต้องรับผิดชอบต่อการทวงหนี้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือใช้วิธีผิดกฎหมาย และให้สร้างมาตรฐานการทวงหนี้โดยที่ผู้ติดตามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมและห้ามผู้ติดตามหนี้ติดต่อกับลูกหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง และห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคามในการติดตามทวงถามหนี้"

ด้านนาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พาณิชย์เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต และ ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลเครดิต เข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการบัตรเครดิต เพื่อแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการกำหนดมาตรการทางกฎหมายให้มีความเป็นธรรม มีหลักการในการพิจารณาการให้บัตรเครดิตให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น โดยมีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดหลักเกณฑ์การออกบัตร อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีหลักเกณฑ์กำกับอยู่แล้ว แต่อำนาจควบคุมได้เฉพาะกับกรณีของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีธุรกิจให้บริการบัตรเครดิตจำนวนมากที่ไม่ใช่ในรูปของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นกฎหมายตัวนี้จะเข้าไปควบคุมดูแลทั้งหมด โดยจะดูที่ประเภทของธุรกิจเป็นหลัก

นอกจากนี้ จะยังมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับมิจฉาชีพที่ใช้บัตรเครดิตในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย เพราะที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายควบคุม และการพิสูจน์ความผิดไม่เท่าทันกับการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพ

“กฎหมายนี้ไม่ใช่จะเป็นการปิดกั้น หรือขัดขวางไม่ให้ประชาชนได้ใช้บัตรเครดิต แต่จะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ รูปแบบ และบทลงโทษต่างๆ ให้มีความชัดเจน เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวมอย่างแน่นอน” นายพีระพันธุ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น