นายกฯ ชี้นโยบายแก้หนี้นอกระบบ จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ผู้ที่ตกเป็นหนี้นับล้านคน คาดในช่วงเดือนประมาณมกราคมจะสามารถประมวลให้เรียบร้อยและนำไปสู่การเจรจาโดยภาครัฐจะเป็นคนกลางคอยไกล่เกลี่ย เผย เม.ย.ปีหน้าจ่ายเบี้ยคนพิการ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (22 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 45 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ตนทราบดีว่าเป็นความทุกข์ของพี่น้องคนไทยจำนวนมาก อาจจะเรียกได้ว่านับล้านคนที่ชีวิตต้องมีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนอยู่กับการเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งมีเงื่อนไขการกู้ที่ต้องใช้คำว่าโหดมากอาจจะดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน การทวงหนี้ก็อยู่ในรูปแบบซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนกับมีการคุกคามกันด้วย สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ คือ เปิดโอกาสให้โอนหนี้นอกระบบทั้งหมดเข้ามาสู่ในระบบ เราก็ใช้คำว่า “โอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่” ขณะนี้สิ่งที่จะเริ่มต้นคือว่าในเดือนธันวาคม ใครที่เป็นหนี้นอกระบบถึง 2 แสนที่เป็นเงินต้น เป็นหนี้มาก่อนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น สามารถที่จะมาขึ้นทะเบียนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน 2 ธนาคารนี้จะเอาข้อมูลทั้งหลายมาดูในช่วงเดือนประมาณมกราคม ประมวลให้เรียบร้อยและนำไปสู่การเจรจา ในขั้นตอนการเจรจาได้รับความร่วมมืออย่างดี ก็คือจากทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และธนาคารที่จะรับเงิน รับโอนหนี้เข้าระบบสามารถที่จะมาตกลงกันได้ ธนาคารที่จะเข้ามานอกจาก ธ.ก.ส.และออมสินแล้ว ก็จะมีทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ก็จะเข้ามาช่วยในการรับหนี้ตรงนี้เข้ามา
นายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์อยากจะเรียนว่า การโอนหนี้เข้ามาสำหรับเกษตรกรใน ธ.ก.ส.นั้น ถ้าเป็นหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท จะอาศัยผู้ค้ำประกัน 2 คน ถ้าเป็นระหว่าง 1 แสนลาทขึ้นไปถึง 2 แสนบาท จะเป็นอย่างน้อย 5 คน ส่วนกรณีของธนาคารอื่น ๆ นั้น หลักประกันที่จะใช้นั้นคือว่ามีผู้ค้ำประกัน 1 คนสำหรับหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท และสำหรับ 1- 2 แสนบาท จะใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน ซึ่งผู้ค้ำประกันนั้นต้องมีรายได้รวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินกู้ อันนี้คือการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้เข้ามาสู่ในระบบ ให้ครบวงจรเป็นครั้งแรก เมื่อโอนหนี้เข้ามาแล้ว การผ่อนคลายเงื่อนไขเกี่ยวกับการกู้ก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่าจะไม่เกินร้อยละ 12 ใน 3 ปีแรกต่อปี แล้วขณะเดียวกันนั้นจะมีการทำสัญญาเงินกู้ที่มีระยะเวลายาวถึง 8 ปี ยกเว้นทางลูกหนี้ต้องการที่จะหรือสมัครใจที่จะทำสัญญาสั้นกว่า 8 ปีเอง นอกจากนั้นจะมีโครงการที่จะไปช่วยเหลือดูแลในเรื่องของการฝึกอบรมฟื้นฟูใน เรื่องของอาชีพ ในเรื่องของการทำรายได้ด้วย เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าเราไม่ได้เพียงแต่ว่าเลื่อนปัญหาออกไป เพราะว่าในที่สุดแล้วถ้าหากว่าผู้ที่เป็นหนี้นั้น ไม่สามารถที่จะมีรายได้ ไม่สามารถที่จะมีโอกาส ไม่มีอาชีพ ก็คงไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ แม้ว่าเงื่อนไขการชำระหนี้จะมีผ่อนคลายหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“ถือโอกาสเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าเข้าไปที่จะช่วยเหลือก็ คือในเดือนธันวาคมเช่นเดียวกัน จะมีการเปิดการลงทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งมีเป้าหมายว่าเราจะสามารถจ่ายเบี้ยคนพิการให้กับคนพิการทุกคนครบถ้วนได้ ในเดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป นี่ก็เป็นงานสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นภาพรวมของเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเฉพาะกลุ่มที่ได้มีการดำเนิน การอย่างต่อเนื่อง” นายกฯ กล่าว